CIO View: มิถุนายน 2567

Image


ภาพรวมทิศทางการลงทุนตั้งแต่ในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายังคงเป็นภาพการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งมีฉากหลังเป็นตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งในภาพรวม อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ลดความร้อนแรงลงกว่าช่วงก่อนหน้าได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) โดยรวมปรับตัวลดลง และในทางกลับกันก็กลายเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ตัวเลข Dot Plot ของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่ถูกประกาศออกมาภายหลังการประชุมรอบเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองเรื่องอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการฯ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดย Dot Plot ได้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียง 1 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่สะท้อนว่าอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้ง อย่างไรก็ตามตัวเลขการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (Market Consensus) นั้นกลับแตกต่างกับประมาณการณ์ของ FOMC โดยตลาดยังคงคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้จากตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอ่อนลงดังที่ได้กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แยกทางจาก Fed ด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ประกอบกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม Tech ที่ออกมาอย่างแข็งแกร่ง สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม US Mega caps ซึ่งเราแนะนำให้ถือครองหุ้นกลุ่มดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยเกณฑ์วัดเล็กน้อย (Slightly overweight) แต่ยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในน้ำหนักการลงทุนโดยรวมในหุ้น เนื่องจากปริมาณการลงทุนในตลาดหุ้นปัจจุบันนั้นค่อนข้างหนาแน่น และ Valuation ของตลาดก็เริ่มส่งสัญญาณเตือนบางอย่าง อย่างไรก็ตามก่อนที่เราจะวิเคราะห์ลงไปในความกังวลเกี่ยวกับ Valuation ของตลาดหุ้น มีบางประเด็นเกี่ยวกับตลาดหุ้นที่เราอยากกล่าวถึงซักเล็กน้อย

ประเด็นแรก ตลาดหุ้นอินเดียได้กลายมาเป็นตลาดหุ้นที่น่าจับตามองและแนวโน้มที่จะสร้างโอกาสในการลงทุนอันน่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองการกระจายความเสี่ยงและการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีโอกาสเติบโตสูงในปี 2567 จากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โครงสร้างประชากรที่เอื้อต่อการขายตัวของเศรษฐกิจ และการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้ทำให้ตลาดหุ้นอินเดียกลายมาเป็นตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โดยได้มีการประมาณการว่า GDP ของอินเดียจะขยายตัวถึง 7.8% ในปี 2567 และ 7.0% ในปี  2568 นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณการว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวได้เฉลี่ย 6.5% เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งจะสะท้อนลงมายังผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้น นอกจากนี้โครงสร้างประชากรของอินเดียที่ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวยังเป็นกำลังสำคัญของตลาดโลก ปัจจุบันอินเดียมีประชากรโดยรวมประมาณ 1.42 พันล้านคน และมีอัตราการขยายตัวของประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5% ต่อปี ประชากรปริมาณมหาศาลเหล่านี้ได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการบริโภคภายในประเทศ สนับสนุนให้เศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตในอัตราที่ก้าวกระโดด นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของรายได้ของชนชั้นกลางในอินเดียได้ทำให้เกิดความต้องการในการบริโภคสินค้าและบริการที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในส่วนของสินค้าไม่คงทน (Fast-moving consumer goods: FMCG) สินค้าคงทน และค้าปลีกจะได้รับประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าว นอกจากนี้การเลือกตั้งภายในประเทศที่เพิ่งสิ้นสุดไป การที่นายนเรนทรา โมดีคว้าชัยชนะเป็นสมัยที่ 3 ร่วมกับพรรคพันธมิตรครองเสียงข้างมากในสภาก็รับรองได้ถึงความต่อเนื่องของนโยบายจากภาครัฐซึ่งให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม และการสร้างงาน ทั้งนี้รัฐบาลอินเดียได้พัฒนาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศผ่านโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต (Production-Linked Incentive Scheme: PLI) และความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เป็นดิจิตัลสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวได้สร้างโอกาสในการลงทุนใหม่และเป็นประโยชน์กับธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้กระบวนการในการนำเทคโนโลยีและการทำงานแบบดิจิตัลมาใช้ในการวางรากฐาน ประกอบกับความต้องการทางสาธารณสุขและการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นยังได้สร้างโอกาสในการลงทุนให้กับเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในแง่ของ Valuation ตลาดหุ้นอินเดียก็มีความน่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว นอกจากนี้การที่ดัชนี SENSEX Index ของอินเดียได้ปรับตัวขึ้น ประมาณ 10% ในปีนี้ก็ได้แสดงให้เห็นว่านักลงทุนส่วนใหญ่เองก็มองเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียเช่นเดียวกับที่เราได้กล่าวมา อย่างไรก็ตามแม้ว่า Valuation ของตลาดหุ้นอินเดียจะปรับตัวสูงขึ้นจากความร้อนแรงของตลาดหุ้น โดย Forward PE ในปัจจุบันอยู่ที่ 20 เท่า หรือประมาณ 0.6 SD ของค่าเฉลี่ย 5 ปี แต่ตัวเลขประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 9.3% ในปีนี้ และ 15.13% ในปีหน้าก็ยังจะสนับสนุนให้ Valuation ของตลาดหุ้นอินเดียยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ นอกจากนี้การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดียยังช่วยลดการกระจุกตัวของการลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุนเนื่องจากตลาดหุ้นอินเดียมี Correlation กับตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศในระดับต่ำจึงสามารถช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดหุ้นโลกโดยรวมได้

ประเด็นที่สอง ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจจากโครงสร้างของตลาดที่ผสมผสานระหว่างหุ้นคุณภาพและหุ้นกลุ่มเติบโต และแม้ว่าความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงมีอยู่แต่เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี กลุ่มอุตสาหกรรม Semiconductor ที่แข็งแกร่ง และ Valuation ของตลาดหุ้นที่อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ก็ทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย ทั้งนี้หลังจากความท้าทายในปี 2566 ที่ผ่านมานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดหวังว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในปี 2567 โดยตลาดได้คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีจะขยายตัวได้ 2.5% ในปี  2567 และ 2.1% ในปี 2568 หลังจากที่ขยายตัวได้เพียง 1.4% ในปี 2566 นอกจากนี้ IMF ยังได้ประมาณการว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะสามารถขยายตัวได้เฉลี่ย 2.2% เกาหลีใต้เป็นผู้นำโลกในด้านอุตสาหกรรมการผลิต Semiconductor และเป็นผู้เล่นสำคัญสำหรับการพัฒนาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดังกล่าว ทั้งนี้การคาดการณ์ถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม Semiconductor โลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งออกของเกาหลีใต้และผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง บริษัทในกลุ่ม Technology ยักษ์ใหญ่ของเกาหลีนำโดย Samsung และ SK Hynix ได้มีการวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากความต้องการในการใช้ชิปที่เพิ่มขึ้นและสนับสนุนการเติบโตของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในภาพรวม ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในเกาหลีใต้จะเติบโตได้ 48.23% ในปี 2567 และ 27.29% ในปี 2568 โดยตัวเลขผลประกอบการที่ขยายตัวขึ้นจะส่งผลให้ Forward PE ของตลาดหุ้นเกาหลีอยู่ที่ 10 เท่า หรือ -1 SD ของค่าเฉลี่ย 5 ปีซึ่งอยู่ในระดับที่มีความน่าสนใจในการเข้าไปลงทุน

ในขณะเดียวกันแม้ว่าเราจะยังคงคำแนะนำให้ลงทุนหุ้นสหรัฐอเมริกาในระดับที่สูงกว่าค่าเกณฑ์วัดเล็กน้อย (Slightly Overweight) แต่ Valuation ของตลาดที่อยู่ในระดับสูง และ Technical analysis ของตลาดทำให้เราเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยปัจจัยแรกมากจาก Forward PE ของ S&P500 Index ที่สูงถึง 21 เท่า หรือ 1.6 SD เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวกลับสูงขึ้นไปอีกสำหรับ Nasdaq 100 Index ที่ Forward PE สูงถึง 27 เท่า หรือ 1.4 SD เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกขับเคลื่อนโดยหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นหลัก ประกอบกับข้อสังเกตถึงความไม่สัมพันธ์กันระหว่างการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคา กับปริมาณหุ้นที่ซื้อขายเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯเริ่มมีความเปราะบางและมีแนวโน้มที่จะปรับฐานในระยะอันใกล้ นอกจากนี้สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงของการโต้วาทีระหว่างผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทำให้มีความเสี่ยงด้านการเมืองเข้ามาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่อาจกดดันโมเมนตัมเชิงบวกของตลาดหุ้นที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีให้หายไป และจากปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้นเราจึงแสดงมุมมองในการลงทุนที่อย่างระมัดระวังผ่านการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน ทั้งนี้เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีน้ำหนักมากกว่า 64% ของตลาดหุ้นโลกเราจึงมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังถึงองค์ประกอบของสัดส่วนการลงทุนในหุ้น อย่างไรก็ดีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ยังอยู่ในระดับสูงได้ทำให้เรามีทางเลือกในการกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุนในกรณีที่ความผันผวนในตลาดหุ้นพุ่งสูงขึ้น โดยในปัจจุบัน บลจ. พรินซิเพิล ได้มีกองทุนที่มีกลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนที่หลากหลายแตกต่างกันตามระดับความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม ตั้งแต่กลยุทธ์ความเสี่ยงปานกลางไปจนถึงกลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงสูง เริ่มจากกองทุนเปิดพรินซิเพิล สตราทีจิค อินคัม ฟันด์ (PRINCIPAL SIF) ซึ่งเป็นกองทุนที่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีความระมัดระวังการลงทุนในหุ้นและต้องการผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ โดยกองทุนมีกลยุทธ์ที่จะลงทุนประมาณ 60% ในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ เช่น ตราสารหนี้ และประมาณ 40% ในสินทรัพย์ที่เน้นการเติบโต เช่น หุ้น เป็นต้น ต่อมาได้แก่ กองทุนเปิดพรินซิเพิล บาลานซ์ อินคัม (PRINCIPAL iBALANCED) ซึ่งมีกลยุทธ์การลงทุนมุ่งเน้นความสมดุลกันระหว่างสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ และสินทรัพย์ที่มุ่งเน้นการเติบโต โดยจะลงทุนประมาณ 50% ในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ เช่น ตราสารหนี้ และ กองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Absolute return และลงทุนประมาณ 50% ในสินทรัพย์ที่เน้นการเติบโต เช่น หุ้น เป็นต้น และสุดท้ายกองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล มัลติ แอสเซท (PRINCIPAL GMA) ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มุ่งเน้นการเติบโตมากกว่าการได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยกองทุนมีกลยุทธ์ที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ เช่น ตราสารหนี้ และ กองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Absolute return ประมาณ 30% และลงทุนในสินทรัพย์ที่เน้นการเติบโต เช่น หุ้น ประมาณ 70% ทั้ง 3 กองทุนเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการกระจายความเสี่ยงออกจากการลงทุนอย่างกระจุกตัวในหุ้นเพียงสินทรัพย์เดียว ทั้งนี้เรายังคงแนะนำอย่างต่อเนื่องให้นักลงทุนกระจายการลงทุนไปยังกลุ่มต่างๆ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) สินค้าโภคภัณฑ์ Listed Private Assets และกองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Absolute Return เพื่อให้พอร์ตการลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

Image

 

Image

 

Image

 

Image

 

Image

กองทุนที่แนะนำ

กองทุนที่แนะนำ

ข้อมูลกองทุน

กองทุนเปิดพรินซิเพิล เอเชีย แปซิฟิก ไดนามิก อินคัม อิควิตี้ A

(PRINCIPAL APDI-A)

https://www.principal.th/th/principal/APDI-A 

กองทุนเปิดพรินซิเพิล เกาหลี อีควิตี้ (PRINCIPAL KEQ)

https://www.principal.th/th/principal/KEQ 

กองทุนเปิดพรินซิเพิล สตราทีจิกค อินคัม ฟันด์ (PRINCIPAL SIF-A)

https://www.principal.th/th/principal/SIF 

กองทุนเปิดพรินซิเพิล บาลานซ์ อินคัม D (PRINCIPAL iBALANCED-D)

https://www.principal.th/th/principal/ iBALANCED-D

กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล มัลติ แอสเซท A (PRINCIPAL GMA-A)

https://www.principal.th/th/principal/GMA-A 


Disclaimer: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน / การลงทุนในหน่วยลงทุน มิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกก็ได้ ดังนั้นผู้ลงทุนควรลงทุนในกองทุนนี้เมื่อเห็นว่าการลงทุนในกองทุนรวมนี้ เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของผู้ลงทุน และผู้ลงทุนยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จากการลงทุนได้ / PRINCIPAL APDI ลงทุนกระจุกตัวในฮ่องกง ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย / PRINCIPAL KEQ ลงทุนกระจุกตัวในประเทศเกาหลี ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย / PRINCIPAL GMA ลงทุนกระจุกตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย / กองทุนมีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ กองทุนอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไร จากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าทุนเริ่มแรกได้/ บริษัทจัดการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุน (Hedging) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน / ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต