‘ตลาดหลักทรัพย์ฯ - พรินซิเพิล’ สรุปงานสัมมนาออนไลน์ The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 6
‘ตลาดหลักทรัพย์ฯ’ ผนึก ‘บลจ.พรินซิเพิล’ จัดสัมมนาออนไลน์ The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 6 ‘เจาะลึก กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. 2564’ เมื่อ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา เร่งกระตุ้นการออมเงิน ด้านวิทยากรแนะลูกจ้างเตรียมพร้อมออมเงินภาคบังคับ หลังกระทรวงการคลังเดินหน้าส่งร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเข้าสู่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เริ่มส่งเงินเข้ากองทุนฯ หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว 1 ปี พร้อมฉายภาพโมเดลกองทุนบำเหน็จบำนาญในจีน หลังรัฐบาลเร่งปรับโครงสร้างให้ประชาชนลดการพึ่งพาเงินสวัสดิการจากภาครัฐและกระตุ้นการออมเงินภาคบังคับและภาคสมัครใจ หนุนคนจีนมีเงินใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณแตะ 54% ของเงินเดือนในเดือนสุดท้าย
นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนพรินซิเพิล จำกัด จัดสัมมนาออนไลน์ The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 6 ‘เจาะลึก กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. 2564’ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้เห็นถึงความสำคัญของการออมเงินเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณ และเตรียมพร้อมก่อนบังคับใช้พระราชบัญญัติ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (ร่าง พ.ร.บ. กบช.) ซึ่งเป็นกฎหมายการออมเงินภาคบังคับรองรับการเกษียณอายุในอนาคตอันใกล้
นางสาวสุปาณี จันทรมาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการออม การลงทุนและพัฒนาตลาดทุน สำนักนโยบายการออม และการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ Pillar 0 ระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐบาล โดยรัฐบาลเป็นผู้ดูแลเงินช่วยเหลือแบบให้ฝ่ายเดียวแก่ผู้เกษียณอายุ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น Pillar 1 ระบบการออมภาคบังคับขั้นพื้นฐานผ่านกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 Pillar 2 ระบบการออมภาคบังคับเพื่อความเพียงพอที่นายจ้างร่วมสมทบเงิน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และ ร่าง พ.ร.บ. กบช. Pillar 3 ระบบการออมภาคสมัครใจเพิ่มเติม ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF), และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นต้น
ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (ร่าง พ.ร.บ. กบช.) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เปรียบเสมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในภาคบังคับ สำหรับลูกจ้างและนายจ้าง (Pillar 2) โดยปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร หากผ่านการพิจารณาจึงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการออมเงินเกษียณที่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มาแล้วกว่า 30 ปี แต่ยังมีสมาชิกเพียง 3 ล้านคน
ทั้งนี้ หลังจาก พ.ร.บ. กบช. มีบังคับใช้แล้ว 1 ปี จึงเริ่มให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 3 เฟส ได้แก่ 1) ช่วง 3 ปีแรก (นับตั้งแต่ กบช. เปิดรับสมาชิก) จะบังคับใช้กับกิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป กิจการที่ได้สัมปทานจากรัฐ กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานรัฐที่ไม่ได้อยู่ในบังคับของ กบข. กิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนและกิจการที่ต้องการเข้าในระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ 2) ปีที่ 4 เป็นต้นไป (หลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ. กบช.) จะบังคับใช้กับกิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป 3) และปีที่ 6 เป็นต้นไป (หลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ. กบช.) จะบังคับใช้กับกิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาตินั้น ต้องเป็นลูกจ้างอายุ 15 – 60 ปี
ขณะที่อัตราการส่งเงินสะสม (ลูกจ้าง) และเงินสมทบ (นายจ้าง) เข้า กบช. กำหนดจากเพดานค่าจ้างไม่เกิน 60,000 บาท แบ่งเป็น ปีที่ 1 - 3 (นับตั้งแต่วันที่ กบช.เปิดรับสมาชิก) ส่งเงินฝ่ายละไม่ต่ำกว่า 3% ของค่าจ้าง ปีที่ 4 – 6 ส่งเงินฝ่ายละไม่ต่ำกว่า 5% ปีที่ 7 – 9 ส่งเงินฝ่ายละไม่ต่ำกว่า 7% ปีที่ 10 เป็นต้นไป ส่งเงินฝ่ายละไม่ต่ำกว่า 10% (ตามกฎกระทรวง) โดยลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จ (เงินก้อน) หรือเลือกรับเงินบำนาญ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยเมื่อเลือกรับบำนาญแล้วสามารถเปลี่ยนไปรับบำเหน็จในภายหลังได้ และหากสมาชิกเสียชีวิตก่อนเกษียณอายุหรือในช่วง 20 ปีที่ยังได้รับเงินบำนาญ เงินในกองทุนดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้กับผู้ได้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุในเอกสารสมาชิกกองทุนฯ ทั้งนี้ ลูกจ้างและนายจ้างสามารถส่งเงินเพิ่มได้สูงสุดฝ่ายละไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง (ไม่กำหนดเพดานค่าจ้าง) อย่างไรก็ตามสำหรับกิจการที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วและส่งเงินในอัตราไม่ต่ำกว่าที่ กบช. กำหนด จะไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติก็ได้ ส่วนผู้ที่ได้รับค่าจ่างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน กำหนดให้นายจ้างจะส่งเงินสมทบฝ่ายเดียว และกรณีที่ย้ายงานไปยังนายจ้างรายใหม่ที่มีเฉพาะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถโอนย้ายเงินจาก กบช. ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
สำหรับการบริหารจัดการ กบช. จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดนโยบายการลงทุน ส่วนการบริหารจัดการเงินในกองทุนจะคัดเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนมืออาชีพที่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.ล.ต.อย่างน้อย 3 ราย โดยจะสรรหาผู้มาทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุน ด้วยวิธี E-Bidding หรือประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรอบระยะเวลาการบริหารต่อรายประมาณ 3 ปี และลูกจ้างที่เป็นสมาชิก กบช. สามารถเลือกแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยง โดยมีแนวโน้มจะมีแผนการลงทุนแบบ D.I.Y. ให้สมาชิกสามารถผสมผสานสินทรัพย์ในการลงทุนได้เอง โดยกำหนดให้แผน Life Path เป็น default policy หากสมาชิกไม่เลือกแผนการลงทุนเอง และหากสมาชิกมีอายุเกิน 60 ปี จะฝากเงินไว้ใน กบช.เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการต่อเนื่องก็ได้ นอกจากนี้ลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม ก็สามารถเข้าเป็นสมาชิก กบช. ได้เช่นกัน ยกเว้นผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน จะไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกได้
นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการสายธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการออมเงินเพื่อเกษียณที่ไม่เพียงพอ แม้ว่าได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว (มีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 20%) โดยส่วนใหญ่ขาดการเตรียมความพร้อมและขาดความรู้ด้านการเงิน ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานในภาคเอกชนประมาณ 15 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียง 18.8% หรือ 2.9 ล้านคน ที่มีการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund หรือ PVD) นอกจากนี้ ในจำนวนผู้เกษียณอายุในแต่ละปี มีเพียง 20.8% ที่สะสมเงินได้ถึง 3 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอสำหรับใช้จ่ายได้เดือนละ 12,500 บาท เป็นระยะเวลา 20 ปี และ 90% ของผู้เกษียณเลือกที่จะนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แทนที่จะลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนเริ่มออมเงินให้เร็วที่สุด และมากที่สุดเท่าที่จะจัดสรรได้ รวมถึงลงทุนให้เป็นเพื่อให้มีเงินออมที่เพียงพอไว้ใช้ในช่วงเกษียณอายุ
ทั้งนี้ สำหรับกิจการที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว สามารถปรับเงื่อนไขในข้อบังคับกองทุนให้สอดคล้องกับ กบช. ได้ เช่น อัตราเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้ลูกจ้างมีทางเลือกในการเก็บเงิน โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิก กบช. หรืออาจเลือกเป็นสมาชิกทั้งสองแห่งก็ได้ ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้สอดรับกับ กบช. และจะเปิดรับฟังความคิดเห็น (public hearing) ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ต่อไป
ด้าน Mr. Thomas Cheong - Executive Vice President of Principal Financial Group and President of Principal Asia กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 6 ‘เจาะลึก กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. 2564’ ในหัวข้อ ‘Pension Fund in China’ (กองทุนบำเหน็จบำนาญในประเทศจีน) ว่า ปัจจุบันระบบการออมเงินเพื่อวัยเกษียณตามที่เวิลด์แบงก์กำหนด ถูกเรียกว่า Multi Pillar Pension System หรือระบบที่เปรียบเสมือนเป็นเสาหลักสำหรับการออมเพื่อวัยเกษียณ
สำหรับสถานการณ์การออมเงินเพื่อวัยเกษียณในประเทศจีนปัจจุบัน ยังคงพึ่งพา Pillar 0 หรือระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณดูแลด้านสวัสดิการผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) จีนจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ 30 – 40% ของทั้งหมด จึงต้องปรับโครงสร้างการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ จากเดิมที่พึ่งพาสวัสดิการจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่เป็นการออมเงินเพื่อเกษียณภาคบังคับและภาคสมัครใจ โดยมีบัญชีเก็บออมเงินโดยเฉพาะและพัฒนาระบบการเชื่อมต่อข้อมูลเงินออมเงินภาคบังคับร่วมกับนายจ้างที่มีประสิทธิภาพแม้มีการย้ายงาน นอกจากนี้ความท้าทายในการกระตุ้นการออมเงินภาคบังคับและภาคสมัครใจของจีนอีกส่วนหนึ่งคือ การนำเงินออมไปลงทุนให้งอกเงยที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก โดยส่วนใหญ่ให้ลงทุนในหุ้น A-shares จึงมีการพูดถึงการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย การลงทุนในสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับช่วงอายุ
สำหรับการออมเงินที่ดีควรจะมีเงินไว้ใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณที่ 70% ของเงินเดือนสุดท้ายของการทำงาน โดยสถานการณ์ทั่วโลก ณ สิ้นปีที่ผ่านมา บราซิลเป็นประเทศที่ประชาชนสามารถออมเงินเพื่อวัยเกษียณได้ดีที่สุดอยู่ที่ 56% ของเงินเดือนสุดท้ายของการทำงาน จีนอยู่ที่ 54% ของเงินเดือนในเดือนสุดท้ายของการทำงาน ไทย 47% ของเงินเดือนในเดือนสุดท้ายของการทำงาน โดยบราซิลได้ใช้มาตรการกระตุ้นให้ประชาชนใส่ใจการออมภาคบังคับ (Pillar 2) และการออมภาคสมัครใจ (Pillar 3) ขณะที่ชิลีประสบความสำเร็จในการกระตุ้นประชาชนออมเงินเพื่อวัยเกษียณ โดยใช้การออกตราสารหนี้ผลตอบแทนสูง 4% ให้กับประชาชนที่อยู่ในระบบการออมภาคบังคับ (Pillar 1) เพื่อจูงใจให้เข้าสู่การออมเงินภาคบังคับร่วมกับนายจ้าง