นโยบาย Product Governance & Fair Dealing
วัตถุประสงค์
เพื่อให้การออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมของบริษัทจัดการกองทุนรวมเป็นไปโดยคำนึงถึงความต้องการและประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญตามหลักธรรมาภิบาลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กองทุนรวม (product governance) และหลัก fair dealing โดยมีระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมเป็นไปอย่างเหมาะสมและเพียงพออย่างมีประสิทธิภาพ
คณะกรรมการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด (“คณะกรรมการบริษัท”) ได้ให้ความเห็นชอบในการกำหนดกระบวนการการปฏิบัติงานที่เกี่ยวเนื่องกับ product governance รวมถึงการอนุมัติแผนกลยุทธ์ของบริษัทในเรื่องดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความต้องการและประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญตามหลักธรรมาภิบาลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กองทุนรวม และหลัก fair dealing โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด ได้กำหนดนโยบาย แผนกลยุทธ์ ระบบงาน และขั้นตอนปฏิบัติ เกี่ยวกับการออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวม ดังนี้
1.การจัดโครงสร้างองค์กร บทบาทของคณะกรรมการ และหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูง
บริษัทฯ ได้กำหนดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคคลากรที่เหมาะสมและเพียงพอเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบาย product governance และหลัก fair dealing เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้
1) การออกแบบและเสนอขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นไปตามต้องการและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์ การให้บริการ ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
2) ผู้แนะนำการลงทุนเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงของกองทุนรวมอย่างแท้จริง
3) กองทุนรวมได้ถูกเสนอขายให้ผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางที่เหมาะสม
4) คนขายและตัวกลางเข้าใจลักษณะสำคัญและความเสี่ยงของกองทุนรวมและผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายของกองทุนรวม
5) ผู้ลงทุนเข้าใจในลักษณะสำคัญและความเสี่ยงของกองทุนรวมอย่างแท้จริงก่อนตัดสินใจลงทุน
6) บริษัทฯ มีการติดตามความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและการทำหน้าที่ของตัวกลางในการเสนอขายหน่วยลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท ได้มอบหมายให้คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ (Product Committee) ซึ่งมีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เป็นประธานกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงจากส่วนงานต่างๆ เป็นกรรมการ มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการออกและเสนอขายกองทุนรวม เพื่อให้การเสนอขายผลิตภัณฑ์มีความเหมาะสมกับกลุ่มผู้ลงทุน สามารถติดตามตรวจสอบได้ และสามารถประเมินภาพรวมและความเสี่ยงของธุรกิจได้อย่างครบถ้วน และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจตามหลัก product governance โดยเป็นหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน มั่นใจได้ในคุณภาพของกองทุนรวมที่ออกและเสนอขายและลดความเสี่ยงในการเกิด mis-selling/ mis-buying
2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนรวม (Product Development)
• เพื่อให้การออกแบบและเสนอขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นไปตามต้องการและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์ การให้บริการ ตลอดจนระบุระดับความเสี่ยง หรือความซับซ้อนของกองทุนรวม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณากำหนดแนวทางในการเสนอขายหน่วยลงทุนให้เหมาะสม บริษัทได้จัดให้มีกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่เหมาะสม โดยมีการกำหนดผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายของกองทุนรวมที่จะออกและเสนอขายและพิจารณาอนุมัติความเสี่ยงของกองทุนใหม่ที่นำเสนอ เช่น ประเภทผู้ลงทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ สถานภาพทางการเงิน รูปแบบผลตอบแทน ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขทางการเงิน อายุ ประสบการณ์ลงทุน เป็นต้น
• บริษัทจัดให้มีการทดสอบผลิตภัณฑ์กองทุนรวม (Product Testing) ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนภายใต้สถานการณ์ต่างๆ (Scenario Analysis/ Stress test) ซึ่งจะช่วยให้บริษัทเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงของกองทุนรวมดังกล่าวอย่างแท้จริงก่อนการเสนอขาย และ มั่นใจว่าผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายจะได้รับผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม
• บริษัทมีการกำหนดช่องทางการขายที่เหมาะสมในแต่ละผลิตภัณฑ์
3.การคัดเลือกตัวกลางในการเสนอขายหน่วยลงทุน และการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กองทุนรวม (Distributor Selection and Communication)
• บริษัทมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกตัวกลางและตัวแทนขายอิสระในการเสนอขายหน่วยลงทุนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าตัวกลางจะสามารถทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุนได้อย่างเหมาะสม โดยกำหนดให้หน่วยงานพัฒนาธุรกิจรายย่อยเป็นผู้พิจารณาและนำเสนอให้คณะกรรมการ Management Committee เพื่อพิจารณาอนุมัติ
• บริษัทมีการทำ distributor due diligence เพื่อประเมินความพร้อมและคุณสมบัติของตัวกลางเพื่อให้มั่นใจว่าตัวกลางสามารถทำหน้าที่ในการขายและให้บริการหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้อย่างเหมาะสม
• หน่วยงานพัฒนาธุรกิจรายย่อยรับผิดชอบในกระบวนการสื่อสารและให้ความรู้แก่คนขายและตัวกลางเพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนขายหรือตัวกลางเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงของกองทุนรวมที่เสนอขาย และเสนอขายกองทุนรวมแก่ผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง
• บริษัทมีวิธีสื่อสารข้อมูลกับผู้ลงทุนที่มั่นใจได้ว่าผู้ลงทุนจะมีข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถทำความเข้าใจกองทุนรวมก่อนการตัดสินใจลงทุนได้ เช่น จัดทำเอกสาร factsheet หนังสือชี้ชวน เอกสารประกอบการขาย หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เป็นต้น
4.การติดตามความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและการทำหน้าที่ของตัวกลางในการเสนอขายหน่วยลงทุน (Distributor monitoring)
• บริษัทจัดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์กองทุนรวมเพื่อให้มั่นใจว่าสอดคล้องกับรายละเอียดความเสี่ยง / ผลตอบแทน / กลุ่มผู้ลงทุนเป้าหมาย (Product Review)
• บริษัทมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์ผลกระทบต่อกองทุนรวม และแก้ไขหรือดำเนินการใดๆตามความเหมาะสม
• มีการติดตามการทำหน้าที่ของตัวกลางในการเสนอขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีการขายผลิตภัณฑ์ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และผู้ลงทุนได้มีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ก่อนการตัดสินใจลงทุน
• หากสงสัยหรือพบว่าตัวกลางมีวิธีการเสนอขายไม่เหมาะสม หรือช่องทางการขายหน่วยลงทุนกับกลุ่มผู้ลงทุนเป้าหมายไม่เหมาะสม บริษัทจะทำการตรวจสอบหาสาเหตุ และแก้ไขหรือดำเนินการใดๆ ตามความเหมาะสม
• บริษัทได้มีการกำหนดช่องทางในการรับข้อร้องเรียน และจัดให้มีกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนโดยมีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขข้อร้องเรียนของลูกค้ารวมถึงการวิเคราะห์ปัญหา/สาเหตุจากเรื่องร้องเรียน