เทคนิคบริหารเงินหลังเกษียณ เลือกลงทุนอย่างไรให้งอกเงย

เทคนิคบริหารเงินหลังเกษียณ เลือกลงทุนอย่างไรให้งอกเงย

การบริหารวางแผนการเงินไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่ในวัยหนุ่มสาวที่บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้แล้วเพียงเท่านั้น แต่เมื่อถึงวัยเกษียณแล้วยังจำเป็นต้องบริหารเงินเพื่อให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายตลอดเวลาที่เหลืออยู่อีกด้วย เพราะถ้าหากมีเงินที่สะสมเก็บไว้ไม่มากพอ และมีการถอนออกมาใช้โดยไม่บริหารเงิน หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มเติมระหว่างทาง อาจทำให้เงินหมดก่อนระยะเวลาที่คาดการณ์ไว้ได้

ทั้งนี้การลงทุนในวัยเกษียณนั้นจะแตกต่างจากการลงทุนเพื่อการเกษียณ ตรงที่เราจะไม่มีรายได้ประจำสำหรับนำมาลงทุนทุกเดือนเหมือนในวัยทำงานแล้ว แบบนี้เราจะบริหารเงินก้อนใหญ่ที่สะสมมาทั้งชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร? 

ก่อนที่จะไปคิดถึงคำตอบของโจทย์ดังกล่าว ให้ลองทบทวนกันอีกทีว่าเป้าหมายและสถานการณ์ในปัจจุบันของเราเป็นอย่างไร เช่น เราจะเกษียณเมื่ออายุเท่าไหร่ ต้องมีเงินเพื่อการเกษียณมากเพียงไหน ตอนนี้มีเงินสำหรับเกษียณแล้วเท่าไหร่ มีวิธีที่จะไปสู่เป้าหมายอย่างไร อ่านเพิ่มเติมในบทความ “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะเก็บเงิน” ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะเก็บเงิน | Principal Asset Management

และเมื่อถึงช่วงเริ่มต้นหลังจากเกษียณแนะนำให้แบ่งเงินที่เก็บสะสมไว้ออกเป็น 3 ส่วน

1. เงินสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ให้ลองประเมินดูว่าเราน่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ต่อเดือน แล้วจึงประมาณการเป็นค่าใช้จ่ายรายปี เพื่อดูว่าเราต้องถอนเงินออกมาใช้มากเพียงใดต่อปี เพื่อจะได้นำเงินส่วนต่างไปบริหารจัดการในส่วนอื่นๆ ต่อไป

2. เงินสำรองฉุกเฉิน ถึงแม้เราจะมีการทำประกันแบบต่างๆ ไว้แล้ว ทั้งประกันภัย ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ แต่ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุเจ็บป่วยที่ประกันไม่ครอบคลุม หรือมีเหตุให้ต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่คาดไว้ โดยควรเก็บเงินส่วนนี้ไว้แบบที่สามารถเบิกถอนได้ทันที เช่นการฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ

3. เงินสำหรับนำไปลงทุน คือเงินทั้งหมดที่หักลบเงินสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และก้อนเงินสำรองฉุกเฉินออกไปแล้ว นำไปแบ่งแยกตามพอร์ตการลงทุนของแต่ละเป้าหมาย นอกเหนือจากที่ต้องการต่อยอดทำให้เงินเก็บงอกเงย ก็อาจมีพอร์ตเพื่อการใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ การช่วยเหลือสังคม หรือเป็นมรดกสำหรับลูกหลานต่อไป

เมื่อเราแบ่งสัดส่วนเงินสำหรับการลงทุนออกมาได้แล้ว หลักๆ ในแต่ละพอร์ตควรมีลักษณะที่เหมาะสม เนื่องจากต้องให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้น และผลตอบแทนควรเป็นบวกให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ จึงควรกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท มีการปันผล จ่ายดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ โดยกระจายลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ทั้งนี้ในแต่ละประเภทจะมีสัดส่วนสอดคล้องกันไปตามเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้

-    สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อให้มีเงินสดพร้อมใช้ สามารถเบิกถอนได้ในระยะเวลาสั้นๆ
-    สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน กองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน
-    สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมหุ้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมกับพรินซิเพิลได้ที่ https://www.principal.th/th/mutual-fundth

สุดท้ายนี้สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากและเน้นย้ำไว้ คือเมื่อสร้างพอร์ตไว้แล้วต้องไม่ลืมที่จะหมั่นตรวจสอบพอร์ตการลงทุนของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าแผนการลงทุนที่วางไว้จะทำให้เงินงอกเงย และเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายตลอดชีวิตวัยเกษียณอย่างแท้จริง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ที่ https://www.principal.th/th/provident-fund

ติดตาม Principal Thailand ได้ที่ช่องทาง
Facebook : https://www.facebook.com/principalthailand 
LINE : https://lin.ee/C6KFF6E หรือ @principalthailand
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCqELMp69UteyKgtWo4JuBqg

คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน/ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม

ติดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://www.principal.th/ หรือโทร 02-686-9595

Ref: https://www.set.or.th/set/financialplanning/lifeevent.do?name=lifeevent…;