Homeschool การศึกษาทางเลือกใหม่ วางแผนยังไงให้ลงตัว
ในปัจจุบันด้วยแนวความคิดด้านการศึกษาที่เปลี่ยนไป โลกออนไลน์ทำให้ความรู้เปิดกว้างอย่างมาก ขณะเดียวกันยังมีข่าวที่อาจมีผลให้หลายครอบครัวขาดความเชื่อมั่นที่จะส่งลูกเข้าศึกษาในระบบห้องเรียน อีกทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็อาจสร้างความกังวลเพิ่มขึ้นให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องส่งลูกไปเรียนในห้องเรียน
การเรียนแบบอยู่บ้าน หรือ Homeschool เป็นอีกทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจและกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามขี้นชื่อว่าการศึกษาย่อมมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาแน่นอน ดังนั้นวางแผนการเงินเพื่อให้ลูกได้รับการศึกษาที่เหมาะสมที่สุดจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
1. รู้จัก Homeschool คืออะไร ดียังไง ทำไมถึงเหมาะกับช่วงนี้
การเรียนแบบอยู่บ้าน หรือ Homeschool เป็นประเภทหนึ่งของการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 การเรียนในรูปแบบนี้มีข้อดี คือสามารถจัดองค์ความรู้ให้เป็นไปตามความสนใจของลูก จัดตารางเวลาเองได้ เรียนรู้ทักษะอื่นได้จากประสบการณ์ตรงนอกบ้าน นอกจากนี้ยังมีเวลาได้ใกล้ชิดกับลูกอีกด้วย
ในขณะที่เชื้อไวรัส COVID-19 ยังมีแพร่ระบาด หรืออาจมีเชื้อโรคอื่นที่ไม่คาดคิดระบาดอีกในอนาคต แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ย่อมมีความกังวลต่อสุขภาพของลูกที่ต้องไปโรงเรียน ดังนั้นการเรียนแบบ Homeschool นับเป็นอีกรูปแบบการเรียนที่มีความเหมาะสมกับช่วงเวลานี้
2. อยากให้ลูกเรียน Homeschool ต้องเตรียมตัวอย่างไร
คุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่อาจเริ่มมีความสนใจการเรียนแบบ Homeschool การเตรียมตัวสำหรับการเรียนแบบ Homeschool แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้
- เริ่มที่คุณพ่อคุณแม่ ควรศึกษาการเรียนรูปแบบนี้ให้ดีก่อน มีความพร้อมด้านเวลา พร้อมจัดการกับขั้นตอนตามกฎหมาย ต้องเข้าใจพัฒนาการตามวัยของลูก สามารถวางแผนการเรียนรู้ อบรมด้านนิสัย และจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียน ที่สำคัญต้องมีวินัยกับตนเองและลูก
- ยื่นคำขอจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาข้อมูลความรู้ระดับพัฒนาการของลูกและความสนใจพิเศษ ทำหลักสูตรหรือแผนการสอน โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมปลายหรือเทียบเท่า นอกจากนี้ต้องมีการประเมินจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปีละ 1 ครั้ง และหากลูกมีความบกพร่องด้านใดจะมีระยะเวลาซ่อมเสริม
นอกจากการเตรียมตัวของคุณพ่อคุณแม่ทั้งด้านการวางแผน จัดการเวลา และงานเอกสารแล้ว ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ต้องวางแผนเพื่อเตรียมการศึกษาที่ดีให้ลูก
3. แนะนำวิธีวางแผนการเงินสำหรับให้ลูกเรียน Homeschool
จากข้อมูลในโลกออนไลน์ซึ่งมีการแชร์ประสบการณ์ตรงจากคุณพ่อคุณแม่ที่จัดการเรียนแบบ Homeschool ให้ลูกมาแล้ว พบว่าค่าใช้จ่ายมีตั้งแต่หลักพันถึงเกินหมื่นต่อเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับวิชาและรูปแบบการเรียนที่จัด และค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเมื่อวัยของลูกเพิ่มขึ้น
ดังนั้นเมื่อวางแผนทั้งวิชาและรูปแบบการเรียนก็จะทราบค่าใช้จ่ายโดยประมาณ คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากรายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยควรแบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายระยะสั้น กลาง และยาว ซึ่งการเก็บเงินไว้เฉยๆ ก็ดูเหมือนจะเสียโอกาส การลงทุนเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้เงินเก็บเติบโตซึ่ง “กองทุนรวม” เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อการศึกษาของลูก
โดยการลงทุนผ่านกองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนซึ่งมีความเชี่ยวชาญการลงทุนในสินทรัพย์การเงินประเภทนั้น คอยบริหารจัดการเงินลงทุนให้ นอกจากนี้กองทุนรวมยังมีหลายประเภทสินทรัพย์ซึ่งเหมาะกับเงินเก็บที่มีวัตถุประสงค์ในระยะเวลาที่ต่างกัน เช่น
- เงินเก็บเพื่อค่าใช้จ่ายระยะ ‘สั้น’ควรลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีความผันผวนต่ำมาก
- หากเป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายระยะ ‘กลาง’อาจเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมผสม ซึ่งอาจมีความผันผวนมากกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน แต่ก็คาดหวังโอกาสรับผลตอบแทนได้มากกว่า
- สำหรับค่าใช้จ่ายระยะ ‘ยาว’ การลงทุนในกองทุนรวมหุ้น (ตราสารทุน) หรือจัดพอร์ตการลงทุนที่ประกอบไปด้วยกองทุนรวมตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำหรืออสังหาริมทรัพย์ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนให้เงินเก็บในระหว่างที่ยังไม่ได้ใช้
การเรียนแบบ Homeschool นับเป็นทางเลือกใหม่ของการศึกษาที่มาพร้อมความยืดหยุ่นของวิชาที่เรียน เวลา และสถานที่ แน่นอนว่าต้องค่าใช้จ่ายตามมาด้วยเช่นกัน ดังนั้นครอบครัวที่สนใจจัดการเรียนแบบ Homeschool นอกจากจะจัดการกับเวลาและวิชาเรียนแล้ว การวางแผนและจัดเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายนับเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน และการลงทุนใน “กองทุนรวม” เป็นอีกทางเลือกเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นให้กับเงินเก็บเพื่อการศึกษาของลูก
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน/ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลของกองทุนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงาน ของกองทุนรวมที่เปิดเผยไว้ในแหล่งต่าง ๆ หรือให้ขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ก่อนการตัดสินใจลงทุน/ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต