สุขภาพดี มีเงินเหลือ เริ่มได้ที่ตัวเรา
ในวันนี้ที่ผู้อ่านทุกท่านกำลังอ่านบทความนี้อยู่ คงอยู่ในวัยทำงานกันแล้ว หากย้อนกลับไปสมัยยังเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ในวันนั้นสามารถเล่นสนุกได้เต็มที่ นอนดึกแค่ไหน ร่างกายก็ยังไม่เป็นปัญหา แต่พอเข้าสู่วัยทำงาน เพียงเดินขึ้นบันไดรถไฟฟ้า กลับรู้สึกหอบขึ้นมา เป็นจุดที่ทำให้เห็นว่าร่างกายเราในวันนี้กับสมัยเรียน ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
ดูเป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเพียงเล็กน้อย แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะคงไม่มีใครอยากเจ็บไข้ได้ป่วย บทความนี้จะมาแนะนำวิธีให้มี “สุขภาพดี มีเงินเหลือ” จะเริ่มที่ตัวเราได้อย่างไรบ้าง? หากเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งการดูแลสุขภาพทางกายและสุขภาพทางการเงินให้แข็งแรง จะช่วยลดความกังวลในวันที่มีเหตุจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลได้มากเลยทีเดียว
ทำอย่างไรดี เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วย?
เรื่องการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วย 3 สิ่งนี้ประกอบกัน
- กินอาหารที่มีประโยชน์ - ในอาหารมื้อหลักแต่ละมื้อ ควรมีสารอาหารที่ครบถ้วน ลดการทานของทอด ของมัน และเพิ่มการทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น จากมื้อว่างที่ทานเป็นของหวาน หรือ ของทอด ลองเริ่มต้นจากการเปลี่ยนมาทานผลไม้ในบางวัน หรือวันเว้นวัน เพียงเท่านี้ร่างกายก็สามารถรับสารอาหารที่ดีขึ้นได้ โดยที่ไม่ฝืนจนเกินไป
- พักผ่อนให้เพียงพอ - ใน 1 วันจะมีชั่วโมงการนอนมากเท่าไร ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรานอนหลับอย่างมีคุณภาพหรือไม่ หากมีชั่วโมงการนอนมาก (ปริมาณการนอนสูง) แต่ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น รู้สึกนอนเท่าไรก็ไม่พอ (คุณภาพการนอนต่ำ) อาจเป็นเพราะนอนหลับไม่สนิท มี Deep Sleep (ช่วงหลับลึก) ที่น้อย สามารถเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น งดการใช้โทรศัพท์มือถือและลดแสงไฟในช่วงก่อนเข้านอน ปรับห้องนอนให้มีบรรยากาศที่เงียบสงบ เพื่อให้สามารถนอนหลับได้เร็วขึ้น และพร้อมทำงานในเช้าวันรุ่งขึ้นได้อย่างเต็มที่
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ - การออกกำลังกายมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องหนัก เหนื่อย และใช้เวลามากเสมอไป สำหรับวัยทำงานการออกกำลังกายเบาๆ อาจเห็นผลลัพธ์มากกว่าการออกกำลังกายหนักๆ เพราะการออกกำลังกายเบาๆ ทำให้สามารถออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงในระยะยาวได้ เช่น การเดิน 30 นาที หรือออกกำลังกายจากคลิปใน Youtube 10 นาที ประมาณ 3-5 วันต่อสัปดาห์
ทำอย่างไรดี หากไม่อยากกังวลกับค่ารักษาพยาบาล?
“1,038,349 คือตัวเลขของจำนวนผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในปี 2560 โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือเยาวชนและวัยทำงาน”*
หากเข้ารับรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ในโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นคือค่าแพทย์ 500-800 บาท (ยังไม่รวมค่ายารักษา) ในขณะเดียวกัน หากเข้ารับรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) ในโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นคือค่าห้องพัก โดยห้องพักเดี่ยวแบบธรรมดามีค่าใช้จ่ายคืนละ 4,000 บาทไปจนถึง 20,000 บาท (เฉพาะค่าห้อง ยังไม่รวมค่ารักษา)
หากไม่อยากกังวลกับค่ารักษาพยาบาล สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่
1. รับความเสี่ยงเอง โดยการตั้งเป้าหมายเก็บเงินสำหรับการรักษาพยาบาล
ข้อดี
- กรณีไม่เจ็บป่วยถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล จะไม่เสียเงินส่วนนี้ไป ทำให้มีเงินเก็บออมมากขึ้น
- กรณีเจ็บป่วยด้วยอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ไอ จาม คัดจมูก เป็นไข้ ค่ารักษาจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลและยารักษา ซึ่งเป็นตัวเลขที่จับต้องได้ เมื่อเทียบกับการทำประกันที่จ่ายเบี้ยหลักหมื่นบาทต่อปี
ข้อเสีย
- ค่ารักษาอาจเกินเบี้ยประกัน กรณีที่เจ็บป่วยหนัก ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหากมีการผ่าตัด ค่ารักษาอาจพุ่งไปถึงหลักแสน
- อาจกระทบต่อคนในครอบครัว หากเราสำรองเงินส่วนนี้ไว้ไม่เพียงพอ
2. โอนความเสี่ยง ให้กับบริษัทประกัน โดยการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ
ข้อดี
- ควบคุมรายจ่ายได้ เพราะทราบจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันในแต่ละปี
- รู้สึกอุ่นใจมากขึ้น เนื่องจากบริษัทประกันคุ้มครองค่ารักษาได้เต็มจำนวน หรือจ่ายส่วนต่างเพียงเล็กน้อย
- ไม่กระทบต่อคนในครอบครัว
- ลดหย่อนภาษีได้
ข้อเสีย
- ประกันมีหลายประเภท หากซื้อประเภทที่ไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวัน จะทำให้เสียค่าเบี้ยประกันเกินจำเป็นได้
เบี้ยประกันที่เหมาะสมอยู่ที่ 10-15% รายได้ทั้งปี หากใครสนใจทำประกัน อย่าละเลยที่จะทำประกันโรคร้ายแรง ค่าเบี้ยประกันไม่สูงอย่างที่คิด หากทำในตอนที่ความเสี่ยงน้อย ค่าเบี้ยอยู่ที่หลักพันต้นๆ เท่านั้นเอง แต่สามารถคุ้มครองค่ารักษาได้ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน
สุขภาพทางกายสำคัญ สุขภาพการเงินก็สำคัญเช่นกัน
นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญ คือ “เงินสำรองฉุกเฉิน” ในยามเศรษฐกิจแบบนี้ งานประจำอาจจะไม่มั่นคงอย่างที่เราคิดอีกต่อไปแล้ว การมีเงินส่วนนี้ไว้จะทำให้อุ่นใจมากขึ้น ว่าในยามที่ขาดรายได้ จะยังสามารถเลี้ยงตัวเอง จัดการหนี้สินที่มีได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ซึ่งเงินสำรองฉุกเฉิน ควรเก็บไว้ในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ อย่างกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในยามที่จำเป็นต้องใช้ จะสามารถนำเงินก้อนนี้ออกมาใช้ได้อย่างทันท่วงที (โดยปกติแล้ว กองทุนรวมประเภทนี้ รอเงินเข้าบัญชีเพียง 1 วันทำการหลังจากทำคำสั่งขาย)
สำหรับใครที่มองระยะยาวมากขึ้น เป้าหมายอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “เป้าหมายเกษียณอายุ” ด้วยเวลาเก็บออมที่ยาว 10-30 ปี สามารถเลือกกองทุนรวมจากหลากหลายนโยบาย มาจัดเป็นพอร์ตการลงทุนได้
ทั้งนี้สำหรับผู้อ่านที่สนใจสร้างเป้าหมายการลงทุนผ่านกองทุนรวม ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน/ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลของกองทุนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงาน ของกองทุนรวมที่เปิดเผยไว้ในแหล่งต่าง ๆ หรือให้ขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ก่อนการตัดสินใจลงทุน
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ บลจ.พรินซิเพิล ได้ที่ https://www.principal.th/th/mutual-fundth
แนะนำหัวข้อที่น่าสนใจ
วางแผนลดหย่อนภาษี ปี 2566 กองทุน SSF RMF
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา *กรมควบคุมโรค : แผนงานวิจัยด้านการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ พ.ศ.๒๕๖๒-๒๕๖๔
http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER28/DRAWER068/GENERAL/DATA0000…;