วิธีวางแผนการเงินฉบับคนมีคู่

อย่างที่เราทราบกันดีว่าชีวิตคู่นั้นเป็นเรื่องของคนสองคน ในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นในด้านความรู้สึกที่มีให้ต่อกัน ในด้านของความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน ซึ่งในหลากหลายด้านนี้ มีอีก 1 ในแง่มุมที่สำคัญของชีวิตคู่ก็คือ “การเงิน” เพราะท้ายที่สุดแล้วนั้นความรักอย่างเดียวคงไม่พอสำหรับชีวิตคู่ เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน ทำให้เมื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว จะต้องมีการวางแผนร่วมกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นรายรับ รายจ่าย วางแผนเสียภาษี กำหนดเป้าหมายการลงทุน การออมและแผนการใช้เงินในอนาคตอย่างรอบคอบ ครอบคลุม

โดยจุดเริ่มต้นง่ายๆนั้น ควรเริ่มที่

ตกลงกันเสียก่อนว่าจะวางแผนร่วม และแยกในส่วนใดบ้าง โดยเริ่มต้นที่รายรับที่จะเข้ามาเป็นเงินกองกลาง ว่าจะนำมาคำนวณเป็นรายได้รวมทั้งหมด เพื่อนำไปวางแผนทางการเงินของทั้งคู่ทั้งหมดหรือไม่ หรือ แต่ละฝ่ายยังมีส่วนที่อยากบริหารเองอยู่บางส่วน ซึ่งอาจจะเกิดจากความฝันส่วนตัว หรือ ความต้องการเป็นส่วนตัวทางด้านการเงินก็ตาม ซึ่งในจุดนี้ควรสำรวจโดยละเอียดว่าทั้งคู่นั้นยังมีความต้องการบริหารการเงินส่วนตัวอยู่หรือไม่ โดยผ่านการเปิดอกคุยกัน เพื่อป้องกันความพยายาม “ซ่อนเงิน’ ในอนาคต ซึ่งในกรณีที่บางคู่อาจยังมีความต้องการแยกกันบริหารการเงินบางส่วนอยู่นั้น ควรที่จะตกลงกันให้ดีว่าจะแบ่งสรรปันส่วนเงินทองที่หามาได้อย่างไร เช่น เป็นสัดส่วนต่อรายได้ทั้งหมดเท่าๆกัน หรือ เป็นจำนวนเงินฝ่ายละเท่าใด เพื่อที่จะได้รวบรวมและจัดสรรเงินเข้าสู่ส่วนกองกลางได้อย่างถูกใจทั้งสองฝ่าย
 

จากนั้นจึงแบ่งเงินที่ตั้งใจสะสมเข้ากองกลางนั้นออกตามจุดประสงค์โดยง่ายคือ เงินเพื่ออนาคต เช่น เป้าหมายระยะสั้น ไปเที่ยวต่างประเทศปลายปี เป้าหมายระยะกลาง ออมเงินเพื่อซื้อบ้านหลังใหม่ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และเป้าหมายระยะยาวเก็บเงินเพื่อการเกษียณของทั้งคู่ กับเงินเผื่อกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเงินสำรองสภาพคล่องสูงเผื่อนำออกมาใช้ยามวิกฤติ เช่น ตกงาน เจ็บป่วย ฯลฯ และ เงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องมีการเปิดอกคุยอีกเช่นกัน ว่า รายจ่ายส่วนใด จะเข้าเกณฑ์การใช้จ่ายที่จะดึงเงินกองกลางออกมาใช้ ส่วนใดที่จะใช้เงินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายในการชำระ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเกี่ยงงอนเวลาชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงไปได้

โดยในส่วนข้างต้นทั้งหมดนี้นั้น สำคัญมากที่สุดก็คือ

“ความชัดเจน” ทั้งในแง่ของจำนวนเงินที่จะสะสม เช่น สะสมฝ่ายละ 30% ของรายได้ ฝ่ายที่รายได้สูงกว่าสะสมเงินเข้ามามากกว่าอีกฝ่ายตามสัดส่วนที่รายได้สูงกว่า เกณฑ์ในการใช้จ่ายเงินกองกลาง เช่น รายจ่ายสาธารณูปโภค รายจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เป็นต้น และ ลักษณะของเป้าหมายทางการเงินที่กำหนด เช่น เที่ยวญี่ปุ่นปลายปี 2563 มีรายจ่ายประมาณ 100,000 บาท วางแผนมีบุตรในอีก 5 ปี ต้องมีค่าทำคลอดและฝากครรภ์จำนวน 300,000 บาทเป็นต้น เพื่อให้ทั้งคู่สามารถดำเนินการตามแผนได้อย่างราบรื่น และไม่ถอดใจจากแผนไปเสียก่อน

ซึ่งเมื่อเรามีทั้งเป้าหมาย และเกณฑ์ที่ชัดเจนแล้ว เราก็จะพอทราบได้คร่าวๆ ว่าต้องใช้เงินสะสมเงินประมาณเท่าใด ในช่วงเวลานานแค่ไหน ซึ่งจะช่วยให้เราทราบได้อย่างชัดเจนว่า จำนวนเงินสะสมที่พูดคุยกันไว้เบื้องต้นนั้นพอหรือไม่ หากพอก็ยินดีด้วยครับ เหลือส่วนสำคัญแค่การทำตามและตรวจสอบแผนอย่างสม่ำเสมอเท่านั้นเอง

แต่หากเป็นกรณีที่เงินสะสมไม่พอแล้วนั้น ทั้งคู่ก็สามารถเลือกใช้ 3 วิธีการต่อไปนี้ อาจเพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือ ร่วมกันเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้ คือ การลดรายจ่าย การเพิ่มเงินสะสม และ การเพิ่มอัตราผลตอบแทน  ซึ่งในส่วนของ 2 ข้อแรกนั้น เป็นวิธีการที่ดูเหมือนง่าย แต่ทำได้ยากสำหรับหลายๆ คน เนื่องจากติดข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น การดูแลบุพการี ภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นข้อผูกพันระยะยาว เช่น การผ่อนบ้าน หรือ ผ่อนรถ อาชีพที่ประกอบอยู่นั้นเป็นอาชีพที่ยุ่งจนไม่สามารถหารายได้เสริมได้เป็นต้น ซึ่งหากเป็นดังนั้นอาจพิจารณายืดระยะเวลาเป้าหมายออกไป เช่น จากเดิมปลายปี 2563 ไปเที่ยวญี่ปุ่นใช้เงิน 100,000 อาจเปลี่ยนเป็นกลางปี 2564 แทน หรือ ปรับลดวงเงินการใช้ลง เช่น ไปเที่ยวปลายปี 2563 เช่นเดิมแต่ขึ้นสายการบินชั้นประหยัดแทน  เพื่อให้เป้าหมายสอดคล้องไปกับกระแสเงินสดที่สามารถสร้างและสามารถเก็บออมได้
 
ในส่วนของวิธีที่ 3 นั้นคือการเพิ่มอัตราผลตอบแทน อาจต้องใช้ความรู้ทางด้านการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น คือ การแบ่งความสำคัญของเป้าหมาย และ ระยะเวลาของเป้าหมาย แบ่งออกเป็น เป้าหมายระยะสั้น กลาง ยาว และ เป้าหมายที่สำคัญ และไม่สำคัญ ซึ่งในส่วนของความสำคัญนั้นจะเป้นตัวช่วยระบุถึงเกณฑ์ความเสี่ยงขั้นสูงสุดว่าควรเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เช่น หากเป้าหมายนั้นสำคัญมาก ควรจะรับความเสี่ยงไม่มากนัก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไปถึงเป้าหมายอย่างแน่นอน กลับกัน หากเป้าหมายนั้นไม่สำคัญก็สามารถที่จะรับความเสี่ยงได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก หากพลาดเป้าไป เป้าหมายดังกล่าวก็ยังไม่สำคัญมากนัก ขณะที่ระยะเวลาของเป้าหมายนั้นจะเป็นอีกมิติที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องความเสี่ยงควบคู่กันไป แต่มีให้น้ำหนักน้อยกว่าความสำคัญของเป้าหมาย โดยยิ่งเป้าหมายมีระยะสั้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งควรรับความเสี่ยงได้น้อยลง กลับกันหากเป้าหมายยิ่งมีระยะยาวเท่าใด ก็ควรที่จะรับความเสี่ยงได้เพิ่มมากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าการไม่ยอมรับความเสี่ยง
 
ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เราต้องการเก็บเงินและลงทุนเพื่อความฝันวัยเกษียณ ในส่วนนี้อาจแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงได้สูงในระดับหนึ่งเมื่อระยะเวลาเกษียณยังอยู่อีกห่างไกล เช่น 20 – 30 ปี โดยอาจแนะนำลงทุนในกองทุนหุ้นทั่วโลก ผสมกับกองทุนหุ้นไทย ซึ่งมีประวัติการสร้างผลตอบแทนระดับ 10 – 14% ต่อปีในระยะยาว แต่มีโอกาสขาดทุนได้ในระยะสั้นจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทาง ประมาณ 60 – 70% ของพอร์ตการลงทุน ผสมผสานด้วยกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งให้ผลตอบแทนประมาณ 2-5% ในระยะยาวแต่มีจุดเด่นคือโอกาสขาดทุนที่ต่ำกว่ามาก ประมาณ 20-30% ของพอร์ตการลงทุน และ กองทุนทองคำประมาณ 10-15% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมดเพื่อถัวเฉลี่ยความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมลง ซึ่งจะช่วยให้พอร์ตการลงทุนโดยรวมนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 6-8% ในระยะยาว ซึ่งดีกว่าการออมเงินในบัญชีเงินฝากทั่วไปแบบปกติมาก

จากนั้นคอยตรวจสอบผลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ประมาณปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อคอยปรับสัดส่วนให้เหมาะกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ไปจนถึงเป้าหมาย โดยที่มีเกณฑ์คือ ยิ่งเวลาเหลือน้อยเท่าใด ค่อยๆทยอยปรับลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้ต่ำลงเรื่อยๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ยามที่ต้องใช้เงินตามเป้าหมายพอร์ตการลงทุนของเราจะมีมูลค่าเพียงพอและมีโอกาสขาดทุนน้อยที่สุด ซึ่งหลายๆท่านอาจรู้สึกว่าเงินที่เก็บออมได้นั้นยังไม่มากพอที่จะลงทุน หรือถึงแม้จะมีปริมาณเงินที่มากพอ ผลตอบแทนก็อาจไม่เป็นไปตามหวังจากความผันผวนของตลาดการลงทุน ทำให้อาจใช้วิธีการทยอยออมเงินเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรายปี รายเดือน หรือรายไตรมาส ประกอบกับเลือกกองทุน และผู้แนะนำการลงทุนที่ไว้ใจได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าท้ายที่สุดแล้วนั้น เป้าหมายเงินออมในฝันนั้นไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน
  
นอกจากนั้นแล้วยังมีอีกเคล็ดลับสำหรับ คนมีคู่จำนวนมากที่นิยมใช้กันก็คือ การยื่นภาษี ซึ่งในกรณีของคนมีคู่นั้นสามารถเลือกได้ว่าจะยื่นเสียภาษีเงินได้ประจำปีร่วมกัน หรือ แยกกัน โดยทั้งคู่อาจพิจารณาจากภาษีที่ต้องเสียว่าหากยื่นร่วมหรือแยกนั้นจะช่วยประหยัดภาษีได้กว่ากัน เช่น ฝ่ายชายอาจมีรายได้ต่ำกว่า แต่มีเงื่อนไขบางส่วนที่ลดหย่อนภาษีได้มากกว่า เช่น ส่วนลดหย่อนบุพการี แต่ฝ่ายหญิงซึ่งมีรายได้สูงกว่า บุพการียังไม่เข้าเกณฑ์การลดหย่อนภาษีดังกล่าว หากยื่นรวมแล้ว ก็จะลดการเสียภาษีของฝ่ายหญิงลงไปได้ ด้วยการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีของฝ่ายชาย โดยในส่วนนี้นั้นอาจปรึกษากรมสรรพากรโดยละเอียด เพื่อการยื่นเสียภาษีเงินได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเต็มสิทธิ์การลดหย่อน เพื่อให้ทุกๆ คู่ได้มีเงินสะสมมากยิ่งขึ้น และไปถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

เหนืออื่นใด สำคัญคือความเข้าใจ และวินัยของทั้งคู่ ต่อแผนการเงินที่วางเอาไว้ เพื่อให้แผนที่ตั้งเอาไว้นั้นไม่เสียเวลาเปล่า และสัมฤทธิ์ผลได้จริงตามเป้าหมายนั้นๆ