ให้สมบัติลูกเป็นการศึกษา ต้องใช้เงินเท่าไร
หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพบ้านเมืองทั่วโลกได้รับความเสียหายจากสงครามไม่มากก็น้อย ในหลายประเทศต่างส่งเสริมให้ประชากรมีลูกหลายๆ คน เพื่อเป็นกำลังและแรงงาน ในการสร้างบ้านเมืองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และสิ่งนั้นคือค่านิยมของคนที่เกิดในช่วงพ.ศ. 2489 – 2507 หรือที่เรียกกันว่า Baby Boomer นั่นเอง ปัจจุบันบางคนในกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ซึ่งคิดเป็น 16.7% ของประชากรในประเทศไทย [Ref1]
จากการที่ Baby Boomer มักนิยมมีลูกหลายคน ทำให้ในบางครั้งการวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ หากแต่ Generation หลัง ๆ เริ่มมีลูกจำนวนน้อยลง แต่เน้นที่การเลี้ยงดูที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ใช้เวลาในการเลี้ยงดูมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญของการศึกษามากขึ้น เพราะนั่นคือสมบัติที่แท้จริงที่พ่อแม่ให้ ทุกสิ่งล้วนมีราคาแล้วการศึกษาของลูกตั้งแต่อนุบาลถึงจบปริญญาตรี ต้องใช้เงินเท่าไร?
“เพราะการศึกษาเป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่สุด”
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการสำรวจถึงความอยากมีลูกของคนไทยเมื่อปี 2560 พบว่า คนไทยอยากมีลูก 1.69 คน ซึ่งลดลงประมาณ 9% จากที่เคยสำรวจเมื่อปี 2544 [Ref2] เมื่อเริ่มมีลูกน้อยลง หลายครอบครัวเริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาบุตรมากขึ้น
“เบ็ดตกปลา มีค่ากว่าปลาที่กิน” จึงเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อย ๆ การศึกษาก็เหมือนกับเบ็ดตกปลา ผู้ที่มีเบ็ดจะสามารถตกปลากินได้ตลอด แต่ผู้ที่เอาแต่กินปลาอย่างเดียว สักวันหนึ่งปลาก็จะหมด ไม่สามารถหาปลากินเองได้
การศึกษาคือโอกาสในอนาคต การที่ลูกได้รับการศึกษาที่ดี เป็นการเปิดโอกาสในการทำงานในบริษัทขนาดใหญ่และมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรืออาจเพื่อเตรียมพร้อมเป็นเจ้าของธุรกิจในวันข้างหน้า ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นเหมือนสมบัติที่พ่อแม่ให้ไว้กับลูก ลูกๆ อาจไม่รู้สึกว่าได้รับสมบัติในช่วงแรก แต่การศึกษาทั้งหมดจะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเก่งทั้งทางอารมณ์และทางเหตุผลเมื่อเติบโตขึ้น แต่การศึกษานั้นก็มีราคาของมัน
“สิ่งที่ต้องเลือก รูปแบบที่ต้องการ”
ราคาของการศึกษาสำหรับเด็กแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน บางครอบครัวที่ลูกจบระดับปริญญาไปแล้วยังไม่เคยรู้เลยว่าการศึกษาที่ให้นั้นราคาเท่าไหร่ เนื่องจากไม่เคยวางแผนการเงินสำหรับการศึกษาบุตรอย่างจริงจัง สิ่งที่ทำคือ “ดีที่สุด เท่าที่ไหว” หากแต่ถ้ามีการวางแผนทางการเงินล่วงหน้าอาจทำให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดีกว่า การวางแผนการเงินสำหรับบุตรไม่ใช่เรื่องยาก โดยการวางแผนการศึกษาบุตรตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงปริญญาตรีสามารถทำด้วยตัวเองได้
โดยขั้นตอนแรกคือการหาจำนวนเงินที่ต้องใช้สำหรับการศึกษา ซึ่งแตกต่างกันเป็นอย่างมากตามโรงเรียนที่เราต้องการให้ลูกเข้าเรียน แผนการเรียนการสอนที่ปัจจุบันมีให้เลือกทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือมากกว่า 2 ภาษา เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นสมมติเราแบ่งการศึกษาของลูกออกเป็น 3 รูปแบบคือ
- แบบมาตรฐาน : ศึกษาในโรงเรียนรัฐหรือเอกชนเป็นหลัก เน้นการสอนวิชาการ มีการสอนภาษาต่างประเทศบ้าง แต่อาจไม่เพียงพอต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติม ต่อมาเข้าเรียนต่อปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยรัฐภาคภาษาไทย
- แบบผสม : เรียนในโรงเรียนเอกชนตั้งแต่อนุบาล ประถม และมัธยม เน้นการศึกษาสอนภาษาต่างประเทศ ไม่ถึงขั้นที่สามารถใช้ได้เหมือนเจ้าของภาษา แต่ก็สามารถสื่อสารได้เป็นอย่างดี เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยหลักสูตรนานาชาติในประเทศ
- แบบนานาชาติ : อยากให้ลูกเป็นฝรั่ง เน้นการเรียนการสอนที่เป็นแบบนานาชาติตั้งแต่อนุบาล เพื่อปูพื้นด้านภาษาและความคิดตั้งแต่เด็ก เป้าหมายคือการเตรียมพร้อมให้ความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สิ่งที่ต้องแลกมาคือการเดินทางและค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูงมาก
ในความเป็นจริงแล้ว ค่าใช้จ่ายสำหรับลูกนั้นมีหลายส่วน เช่น ค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษ เงินไปโรงเรียน ค่ากินอยู่ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าประกันสุขภาพ/อุบัติเหตุ ค่าเรียนพิเศษ ค่าแรกเข้าโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายทางการศึกษาก้อนที่ใหญ่ที่สุดคือค่าเทอมและจะเริ่มจ่ายตั้งแต่ลูกอายุ 4 ขวบหรือในช่วงที่เข้าโรงเรียนอนุบาล ซึ่งค่าเทอมนั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น โดยค่าใช้จ่ายที่หนักที่สุดในส่วนนี้คือช่วงการเรียนในมหาวิทยาลัย
จากการสำรวจ*ค่าเทอมปัจจุบัน(ต่อปี) รูปด้านล่างเป็นค่าเทอมเฉลี่ยของระดับชั้นต่าง ๆ ของหลายโรงเรียน เพื่อให้เห็นภาพจำนวนเงินที่ต้องใช้ในอนาคต ซึ่งอาจแตกต่างกันเมื่อเข้าเรียนจริง
* ข้อมูลค่าเทอมปัจจุบัน(ต่อปี) มาจากการสำรวจของบริษัท ฟินบรอดแคสติ้ง จำกัด จำนวน 43 สถาบันการศึกษา ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2562 และ [Ref3]
“ราคาของการศึกษา”
ในความเป็นจริงแล้วค่าใช้จ่ายทางการศึกษานั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือมีแต่เพิ่มกับเพิ่ม ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นการลดค่าเทอมสักเท่าไร ดังนั้น “เงินเฟ้อทางการศึกษา” หรืออัตราการขึ้นค่าเทอมในแต่ละปีจึงเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ทำให้ค่าเทอมเพิ่มขึ้นทุกปี
โดยปกติในประเทศไทยมีเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในระยะยาวประมาณ 3% ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาก๋วยเตี๋ยวเพิ่มจากชามละ 15 บาทมาเป็น 40 บาทในปัจจุบัน และเงินเฟ้อก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าเทอมแพงขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นสูงหรือต่ำกว่าเงินเฟ้อก็อาจเป็นได้ ซึ่งในตัวอย่างด้านล่างสมมติให้เงินเฟ้อทางการศึกษาเพิ่มขึ้นเท่ากับเงินเฟ้อที่ 3% เพื่อให้เห็นค่าเทอมในอนาคต
การศึกษาในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทำให้ราคาของการศึกษาไม่เท่ากัน ค่าเทอมในวันนี้อาจไม่ใช่ค่าเทอมที่เราต้องจ่าย แต่แน่นอนว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตตามเงินเฟ้อทางการศึกษา การศึกษารูปแบบมาตรฐานใช้เงิน 5.5 แสนบาท แบบผสมใช้เงิน 3.7 ล้านบาท และแบบนานาชาติ ใช้เงิน 18 ล้านบาท และนี่คือค่าเทอมของ “ลูก 1 คน”
**ข้อมูลค่าเทอมรวม(ต่อปี)อนุบาลถึงปริญญาตรี จากการสมมติให้เงินเฟ้อทางการศึกษาเพิ่มขึ้นเท่ากับเงินเฟ้อที่ 3%
“การวางแผนทางการเงิน คือเส้นทางของการสร้างสมบัติทางการศึกษา”
หลายคนเห็นจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการศึกษาบุตรแล้วอาจคิดว่าเงินนั้นเป็นจำนวนที่สูงมากๆ มากกว่าเงินเก็บทั้งชีวิต หรืออาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บเงินได้มากขนาดนั้น จนทำให้รู้สึกท้อแท้
หากแต่การวางแผนทางการเงินที่ดี มีวินัย ลงทุนระยะยาว และรู้จักเทคนิคการลงทุน สามารถช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายได้ ในส่วนของเงินลงทุนที่เก็บไว้เพื่อเป็นการศึกษาลูกควรมีการประเดิมด้วยเงินก้อนแรก ซึ่งอาจไม่สูงนักแต่นับว่าเป็นการเริ่มลงมือเก็บเงินที่ดี นอกจากนั้นในระหว่างทางการออมเงินแบบเฉลี่ยนต้นทุนหรือ DCA (Dollar Cost Average) จะยังสามารถช่วยให้คุณมีวินัยในการลงทุน อีกทั้งยังได้เฉลี่ยต้นทุนอยู่อย่างสม่ำเสมอ เรามักได้รับเงินพิเศษในแต่ละปี เช่น Bonus หรือค่าคอมมิชชั่นพิเศษ อย่าเอาเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายทั้งหมด แต่ควรแบ่งไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการลงทุนเพื่อการศึกษาให้ลูก
เงินก้อนใหญ่ เก็บได้โดยใช้เงินก้อนเล็ก เมื่อมีเงินเหลือในแต่ละเดือนหรือแต่ละปี เราควรแบ่งเงินนั้นส่วนหนึ่งมาใช้ในการเก็บเงินเพื่อลูกเพื่อสร้างสมบัติทางการศึกษา
Reference
Ref1: https://gnews.apps.go.th/news?news=22878
Ref2: https://www.thaihealth.or.th/Content/40854-%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%…
Ref3: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/802409