กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เลือกให้ดีตั้งแต่ “วันแรก” มีชัยไปกว่าครึ่ง

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทำไมถึงควรเลือกแผนการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ?

จากสถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาด ทำให้บางธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ อีกทั้งพนักงานประจำต้องเริ่มมีความรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงินและหันมาระมัดระวังค่าใช้จ่ายรวมถึงเปลี่ยน mindset ในเรื่องการเก็บเงินมากขึ้น หากบริษัทไหนที่ยังไม่มีการจ้างพนักงานออกหรือลดเงินเดือนถือว่าโชคดีเป็นอย่างมากในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ยิ่งบริษัทไหนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ถือว่าดีมากๆเพราะการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปรียบเสมือนการเก็บเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ อีกทั้งบริษัทยังหักเงินไว้สมทบให้อีกด้วยซึ่งเป็นตามนโยบายแต่ละบริษัท เพราะฉะนั้นเราควรให้ความสำคัญกับการลงทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่วันแรกเพื่อเข้าใจวัตถุประสงค์การลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตัวเองในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสม และ เพิ่มโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเอง

ประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่เทศกาลเด็กจบใหม่หางานทำเปลี่ยนสถานะจากนักศึกษาเป็นมนุษย์เงินเดือนเต็มตัว และหลาย ๆ คนมักจะเจอกับคำว่า หักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2 - 15% แล้วก็คิดว่าแค่หักเงินออมเก็บไว้ตอนออกจากงาน หรือมองว่าเป็นแค่หนึ่งในสวัสดิการที่บริษัทมีให้ จริง ๆ แล้วกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสิ่งที่สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเรา ด้วยสิทธิประโยชน์ถึง 3 ข้อ

1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เราโดนหักเงินจากนายจ้างทุกเดือน นายจ้างจะสมทบให้ลูกจ้างด้วยอีก 1 เท่า (เงื่อนไขการสมทบและจำนวนอัตราสมทบสูงสุดขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กร) ซึ่งจริงๆแล้ว อยากให้เรามองว่าเป็นการเก็บเงิน ไม่ใช่โดนหักเงิน เพราะเราจะได้รับเงินจำนวนนี้คืนพร้อมดอกผลที่เกิดจากการลงทุน ในวันที่เราออกจากงาน

2. ได้รับผลตอบแทนจากกองทุน ซึ่งผลตอบแทนนี้จะขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของกองทุนที่เราเลือก 

3. สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยเงินที่เราสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละปี สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท 

เห็นอย่างนี้แล้วก็หลายคนคงอยากเก็บเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเยอะๆ กันแล้ว แต่เรื่องการวางแผนการลงทุนก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ อย่างเรื่อง ถ้าเราต้องการให้เก็บเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ 15% นายจ้างจะสมทบให้กี่เปอร์เซ็นต์ บางบริษัทอาจจะกำหนดอัตราสมทบตามอายุงาน เช่น พนักงานใหม่อายุงานไม่เกิน 5 ปี นายจ้างสมทบให้ 5% และสมทบเพิ่มอีก 1% ในปีถัดไปสูงสุดไม่เกิน 10% เป็นต้น 

การเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง อันนี้ต้องถามตัวเราเองก่อนว่า ชอบผลตอบแทนสูงแล้วรับความเสี่ยงสูงตามได้หรือไม่ เพราะว่าถ้าเลือกแผนเสี่ยงสูงในช่วงสั้นๆก็มีโอกาสที่เงินต้นจะลดลงได้เหมือนกัน หรือเงินเก็บก็คือเงินเก็บ ยอมไม่ได้ที่เงินต้นจะหายไป เพราะยังไงก็ได้กำไรจากเงินสมทบจากนายจ้างอยู่แล้ว และเรื่องการลดหย่อนภาษีสำหรับเด็กจบใหม่ในการทำงานปีแรก ๆ บางคนรายได้ต่อปีจะยังไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ก็อาจจะเลือกหักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่ากับส่วนที่นายจ้างสมทบก่อนได้ เงินเดือนส่วนที่เหลือจะได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 

มาถึงตรงนี้อาจจะรู้สึกว่าการวางแผนเลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดีทำไมมันยากจัง จริง ๆ แล้วการเลือกแผนการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะมีระบบลูกจ้างเลือกลงทุน (Employee’s Choice) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง และปรับระดับความเสี่ยงได้ตามความต้องการ วันนี้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด มีวิธีการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เหมาะสมกับคุณ และช่วยให้เงินงอกเงยไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้
 
 

2 นโยบายแผนการลงทุนจากบลจ. พรินซิเพิล

สำหรับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บลจ. พรินซิเพิล มี 2 นโยบายการลงทุนให้เลือก

1. แผนสมดุลตามอายุ (Target Date) เหมาะกับคนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการลงทุนมากมัก หรือไม่มีเวลาติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ออกแบบมาเพื่อช่วยจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิก โดยจะมีผู้จัดการกองทุนที่ช่วยจัดพอร์ตให้สมาชิก โดยดูจากช่วงอายุปีปัจจุบันของสมาชิกไปจนถึงปีที่สมาชิกเกษียณ แล้ว คัดเลือกสินทรัพย์และจัดสัดส่วนในการลงทุนของสินทรัพย์แต่ละประเภท ให้เหมาะสมกับช่วงอายุที่เพิ่มขึ้นของสมาชิก จึงเหมาะกับสมาชิกที่มีเวลาน้อย หรือสมาชิกที่ไม่เชี่ยวชาญในการลงทุน โดยมีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญสูงช่วยปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับอายุ และสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยแบ่งการลงทุนเป็น 3 ช่วงอายุหลักดังนี้

  • วัยเริ่มทำงาน เป็นกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้สูงกว่าช่วงอายุอื่นๆ เนื่องจากมีระยะเวลาในการลงทุนที่ยาวนานกว่าทุกช่วงวัย จึงเหมาะกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูง
  • วัยกลางคน เนื่องจากอายุมากขึ้นทำให้ความสามารถในการรับความเสี่ยงลดน้อยลง ควรปรับพอร์ตให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง (Balance) โดยมุ่งเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สม่ำเสมอ และไม่มีความผันผวนมากจนเกินไป
  • วัยใกล้เกษียณ เป็นกลุ่มที่เหลือเวลาออมเงินสั้นที่สุด จึงไม่เหมาะกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จึงควรปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความเสี่ยงน้อยลง เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ยังควรมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอยู่บ้าง เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้ 

2. แผนลงทุนตามความเสี่ยง (Target Risk) เหมาะกับคนที่ต้องการเลือกแผนการลงทุนตามความเสี่ยงที่ตนเองต้องการ ก่อนการเลือกแผนการลงทุนแบบนี้ สมาชิกควรทำแบบประเมินความเสี่ยง (Risk Profile Questionnaire) ซึ่งจะช่วยแนะนำในเบื้องต้นถึงแผนที่เหมาะสมจากการตอบคำถามเกี่ยวกับการลงทุน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ให้สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุน หรือออกแบบพอร์ตการลงทุนได้ด้วยตัวเอง โดยจะแบ่งออกเป็น 5 เมนูมาตรฐาน ตั้งแต่สมาชิกที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ (Conservative) ไปจนถึงระดับความเสี่ยงสูง (Aggressive) และยังมีแผนการลงทุนที่สมาชิกสามารถผสมสัดส่วนการลงทุนในแต่ละตราสารได้ตามต้องการ (Do-it-yourself) แต่สิ่งที่สำคัญสมาชิกที่ต้องการลงทุนในแผนนี้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนเป็นอย่างดี  และมีเวลาติดตามสภาวะตลาดอยู่ตลอด นอกจากนั้นควรประเมินตนเองให้ได้ว่ามีความสามารถในการรับความเสี่ยง หรือความผันผวนของการลงทุนได้มากน้อยเพียงใด สามารถมองทิศทางเศรษฐกิจและคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้ เพราะสินทรัพย์ที่ลงทุนให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันในแต่ละสภาวะเศรษฐกิจ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ที่ https://www.principal.th/th/provident-fund

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://www.principal.th/ หรือโทร 02-686-9595

ติดตาม Principal Thailand ได้ที่ช่องทาง
Facebook : https://www.facebook.com/principalthailand 
LINE : https://lin.ee/C6KFF6E หรือ @principalthailand
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCqELMp69UteyKgtWo4JuBqg