โบนัสก้อนใหญ่ ใช้ยังไงให้คุ้มค่า

Principal_big bonus how to make it worth

ช่วงต้นปีแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่ชาวมนุษย์เงินเดือนตั้งหน้าตั้งตารอคอยมาตลอดปีคงหนีไม่พ้น “เงินโบนัส” แต่อย่าช้อปปิ้งหรือเที่ยวจนหมด เงินโบนัสก้อนนี้สามารถสร้างประโยชน์มากขึ้นหากรู้จักบริหาร ในบทความนี้เราอยากพาทุกคนมารู้จักกับ 5 เทคนิคการบริหารเงินโบนัสให้คุ้มค่าไปด้วยกัน

  • จัดการหนี้สิน

เงินโบนัสที่ได้มาสำหรับบางคนอาจถูกนำไปชำระหนี้บางก้อนจนหมด แต่...ลองแบ่งเงินโบนัสส่วนหนึ่งเอาไว้จัดการหนี้สิน เพื่อจะได้มีเงินไปใช้กับเป้าหมายอื่นของชีวิต และหากเงินที่แบ่งออกมาไม่เพียงพอกับภาระหนี้ ก็ไม่เป็นไร ลองใช้การจัดลำดับการชำระหนี้ตามนี้กันดู
1.    เน้นหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสูงสุดก่อน เช่น หนี้บัตรเครดิตและหนี้บัตรกดเงินสด
2.    นำเงินไปชำระหนี้บ้าน คอนโด หรือรถยนต์ เพื่อให้เงินต้นหนี้น้อยลง ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในอนาคตก็จะลดลง พร้อมลดระยะเวลาที่ต้องแบกหนี้อีกด้วย
และที่สำคัญ คือ ไม่ควรสร้างหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มเติมโดยไม่มีความจำเป็น หมั่นหาข้อมูลเพื่อ refinance พร้อมทั้งตรวจสอบใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต และแยกบัญชีเงินเพื่อชำระหนี้
 

  • สำรองเป็นเงินฉุกเฉิน

เมื่อความไม่แน่นอนมีมากขึ้นในยุคนี้ คำว่า ‘ตกงาน’ จะมาเยือนเมื่อไรก็ได้ การมีเงินสำรองฉุกเฉินจึงสำคัญมาก จุดประสงค์หลักเพื่อใช้จ่ายในช่วงที่กำลังหางานใหม่หรือมีเหตุให้ต้องออกจากงาน โดยแต่ละอาชีพมีความมั่นคงแตกต่างกัน การแบ่งจำนวนเงินฉุกเฉินจึงไม่เท่ากัน ประกอบด้วย
•    อาชีพที่มีความมั่งคงสูง โอกาสตกงานยาก ควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
•    อาชีพที่มีความมั่นคงปานกลาง ขึ้นอยู่กับประเภทและแนวโน้มธุรกิจ ควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น พนักงานบริษัทเอกชน
•    อาชีพที่เป็นเจ้านายตัวเอง มีรายได้ไม่แน่นอน ควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้ 12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น ฟรีแลนซ์
ด้วยเหตุนี้เงินสำรองฉุกเฉินจึงควรเก็บไว้ในสินทรัพย์การเงินที่ความเสี่ยงต่ำ มีความปลอดภัยสูง เช่น เงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน
 

  • อย่าลืมคิดเรื่องภาษี

ต้องไม่ลืมเด็ดขาดว่าเงินโบนัสก็เป็นส่วนหนึ่งของ ‘เงินได้’ ที่ต้องถูกนำมาคิดภาษีเช่นเดียวกับเงินเดือน ก่อนอื่นต้องตรวจสอบก่อนว่า เงินได้ทั้งหมดที่หักลบค่าใช้จ่ายกลายเป็น ‘เงินได้สุทธิ’ สูงกว่าฐานเงินได้สุทธิที่ได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่ หากสูงกว่าก็ต้องไปดูต่อว่านายจ้างหรือฝ่ายบุคคลของบริษัทหักภาษีออกจากรายได้ไปแล้วหรือยัง หากยังไม่ได้หักก็ควรแบ่งเงินโบนัสส่วนหนึ่งเพื่อชำระภาษี
 

  • แบ่งลงทุน (ระยะสั้น,ระยะยาว,เป้าหมาย,ความเสี่ยง)

นี่เป็นส่วนสำคัญที่ควรแบ่งจากเงินโบนัสที่รอคอยมาแสนนาน นั่นคือ แบ่งมาลงทุน แน่นอนว่านี่อาจเป็นสิ่งที่เริ่มยากกว่าส่วนอื่น แต่เงินส่วนนี้จะช่วยสร้างประโยชน์มหาศาลในอนาคต ทั้งสร้างความมั่งคั่ง เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างธุรกิจ หรือสานฝันท่องเที่ยวรอบโลก การลงทุนต้องกำหนดระยะเวลาที่สอดคล้องกับเป้าหมายและความเสี่ยง แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  1. เป้าหมายระยะสั้น ใช้เวลาทำให้สำเร็จไม่เกิน 1 ปี ด้วยระยะเวลาที่สั้นจึงควรเลือกการลงทุนความเสี่ยงต่ำและเน้นรักษาเงินต้น เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้
  2. เป้าหมายระยะกลาง ใช้เวลาทำให้สำเร็จ  3-7 ปี เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างเนื้อสร้างตัว ควรเลือกการลงทุนความเสี่ยงปานกลาง เช่น กองทุนรวมผสม
  3. เป้าหมายระยะยาว ใช้เวลาทำให้สำเร็จมากกว่า 5 ปีขึ้นไป เปรียบได้กับเส้นชัยในการเดินทาง ควรเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น หุ้น หรือกองทุนรวมตราสารทุน

หากใครที่ไม่ถนัดด้านนี้เลย อาจเลือกลงทุนกับงานอดิเรกที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก เช่น ร้านขายของออนไลน์ หรือขายรูปถ่ายออนไลน์
 

  • ให้รางวัลตัวเองบ้าง

ไม่ว่าใครก็ตามย่อมต้องการรางวัลเมื่อบรรลุเป้าหมายได้ มนุษย์เงินเดือนที่ลุยงานหนักกันมาทั้งปี การให้รางวัลตัวเองเป็นสิ่งที่ดีมาก นอกจากจะช่วยผ่อนคลายความเครียด ยังช่วยให้ขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตได้ง่ายขึ้น การให้รางวัลตัวเองอาจเป็นโปรเจคในฝัน เช่น แต่งบ้านใหม่ หรือซื้อของใช้สุดหรู สำหรับบางคนอาจเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวในสถานที่ใหม่เพื่อเติมเต็มพลังทางใจ


เงินโบนัสนับเป็นเงินก้อนที่ใครหลายคนรอคอยมาแสนนาน และได้มาพร้อมความภูมิใจ หากรู้จักเทคนิคบริหารเงินโบนัสก้อนใหญ่ ไม่ว่าจะเพื่อจัดการหนี้สิน สำรองเป็นเงินฉุกเฉิน เรื่องภาษี การลงทุนให้งอกเงย หรือให้รางวัลตัวเอง ก็นับได้ว่าเป็นการใช้ได้อย่างคุ้มค่า และเป็นจุดเริ่มต้นสู่วินัยทางการเงินที่ยั่งยืน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า(กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน/ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลของกองทุนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง  และผลการดำเนินงาน ของกองทุนรวมที่เปิดเผยไว้ในแหล่งต่าง ๆ หรือให้ขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ก่อนการตัดสินใจลงทุน