Principal Update: CIO's View July 2021

Principal Update: CIO's View July 2021
โดย คุณศุภกร ตุลยธัญ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน

Vaccinate

สวัสดีครับ เดือนนี้เราเริ่มกันที่การประเมินสถานการณ์อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกทั่วโลกจากการเก็บข้อมูลมาจากฐานข้อมูลของทาง Financial Times โดยตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 26 มิ.ย. อยู่ที่ 23.5% หรือนับเป็นประชากรจำนวน 1.81 พันล้านคนโดยประมาณ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกทั่วโลก ณ สิ้นไตรมาสแรก ซึ่งมีอัตราเพียงแค่ 4.7%

ประเด็นสำคัญสำหรับมุมมองในระยะข้างหน้าของเศรษฐกิจโลก ก็ต้องติดตามดูตัวเลขอัตราการฉีดของเศรษฐกิจหลักๆ โดยประเทศสหรัฐอเมริกามีอัตราการฉีดเข็มแรกที่ 53.9% สหภาพยุโรปมีอัตราการฉีดที่ 49.3% ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการฉีดที่ 21.3% และประเทศจีนมีอัตราการฉีดที่ 44.5% ซึ่งทั้งสี่เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ต่างก็มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้นจากไตรมาสแรกอย่างมีนัยยะ สำหรับอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกในประเทศไทยเรานั้นก็นับว่ายังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 9.2% แต่ก็นับว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับอัตรา 0.2% เมื่อสิ้นไตรมาสแรก

table

ที่มา: The Financial Times; data as of 26 June 2021; retrieved from https://ig.ft.com/coronavirus-vaccine-tracker/?areas=tha&cumulative=1&d…

activity

พัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านการป้องกันและต่อสู้กับการระบาดของเชื้อ COVID-19 ในหลายประเทศได้นำไปสู่การปรับตัวที่ดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งสะท้อนออกมาในรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ อาทิเช่น

Us flag ประเทศสหรัฐฯที่มีรายงานยอดขายปลีก (US Retail Sales) ที่โตขึ้นในอัตรา 40% ต่อเดือนโดยเฉลี่ยในเดือน เม.ย.และ พ.ค. เมื่อเทียบกับอัตรา 14% ต่อเดือนในไตรมาสแรก นอกจากนี้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดเล็ก (NFIB Small Business Optimism Index) ก็ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 99.7 ต่อเดือนโดยเฉลี่ยในเดือน เม.ย.และ พ.ค. เทียบกับอัตรา 96.3 ต่อเดือนในไตรมาสแรก

eu flag สหภาพยุโรปมีรายงานยอดขายปลีกที่โตขึ้นในอัตรา 18% ต่อเดือนโดยเฉลี่ยในเดือน เม.ย.และ พ.ค. เมื่อเทียบกับอัตราติดลบ 2.9% ต่อเดือนในไตรมาสแรก อีกทั้งรายงานดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจภาคบริการ (Eurozone Services Sentiment Index) ก็ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.7% ต่อเดือนโดยเฉลี่ยในเดือน เม.ย.และ พ.ค. จากระดับติดลบ 14.7% ต่อเดือนในไตรมาสแรก

china flag ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่บริหารจัดการการติดเชื้อได้เป็นอย่างดีในปีที่แล้วกลับมีสัญญาณทางเศรษฐกิจในส่วนของตัวเลขรายงานยอดขายปลีกที่ขยายตัวในอัตราที่ลดลงเหลือเพียง 15.2% ต่อเดือนโดยเฉลี่ยในเดือน เม.ย.และพ.ค. จากอัตรา 24.2% ต่อเดือนในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจภาคบริการในประเทศจีนก็ยังคงส่งสัญญาณเติบในอัตราที่น่าพอใจ โดยดัชนีไฉซินด้านผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีน (Caixin China Services Purchasing Managers Index) ยังคงอยู่ในแดนขยายตัวที่ระดับ 55.7 ต่อเดือนโดยเฉลี่ยเดือน เม.ย และ พ.ค. จากระดับ 52.6 ต่อเดือนในไตรมาสแรก

jp flag ส่วนประเทศญี่ปุ่นที่ช่วงที่ผ่านมามักจะเห็นแต่ข่าวเรื่องของความเห็นต่างต่อประเด็นการเดินหน้าจัดงาน โตเกียวโอลิมปิก หากมาดูตัวเลขเศรษฐกิจในส่วนของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของญี่ปุ่น (Japan Services Purchasing Managers’ Index) ยังนับว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 47.3 ต่อเดือนในครึ่งปีแรก ในทางกลับกันความเชื่อมั่นของบริษัทรายใหญ่ในญี่ปุ่นจากรายงานดัชนี Tankan (Japan Reuters Tankan Index) ดูเหมือนว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 18.7 ต่อเดือนในไตรมาสที่สอง จากระดับ 2.7 ต่อเดือนในไตรมาสแรก

th flag สำหรับประเทศไทยนั้น ตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกมีอัตราติดลบ 2.6% ยังนับว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ยังพอจะมีสัญญาณบวกจากตัวเลขส่งออกที่โตเฉลี่ย 27.3%ต่อเดือนในเดือน เม.ย.และ พ.ค. จากระดับ 2.1% ต่อเดือนในไตรมาสแรก

มุมมองการลงทุน 2H/2021

ในครึ่งปีหลังของปี 2021 ทางบลจ.พรินซิเพิล ประเมินว่าภาพรวมของการลงทุนจะยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงจากต่างประเทศอยู่บ้าง โดยปัจจัยหลักมาจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐฯ ที่เห็นถึงการเร่งตัวของดัชนีราคาประเภทต่างๆ บ่งชี้ถึงสัญญาณความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ล่าสุดนั้นตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต (inflation expectation) กลับปรับตัวลงสวนทางกับตัวเลขเงินเฟ้อจริง เนื่องมาจากการที่นักลงทุนในตลาดให้ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เงินเฟ้อในอนาคต ว่าจะถูกควบคุมให้อยู่ในกรอบได้ อย่างไรก็ตาม การที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ปรับการคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย Fed Funds Rate ขึ้นถึงสองครั้งในปี 2023 ทำให้อาจจะมีความกังวลว่าจะต้องเกิดการปรับลดมาตรการ QE จากทางเฟดเร็วขึ้นมาเป็นปลายปี 2021

นอกจากนี้ยังมีประเด็นความกังวลเรื่องการขึ้นอัตราการเก็บภาษีที่อาจจะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นในช่วงครึ่งปีหลังได้ ทั้งนี้เรายังมีมุมมองว่าการฟื้นตัวของการจ้างงาน และการฟื้นตัวของผู้บริโภคที่กลับมาใช้จ่ายมากขึ้นจากการเปิดประเทศของสหรัฐฯ และนโยบายกการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (The American Jobs Plan) ของรัฐบาล โจ ไบเดน ที่อาจจะมียอดเม็ดเงินการลงทุนใหม่อยู่ที่ 5.79 แสนล้านดอลลาร์ฯ จะยังเป็นปัจจัยที่ช่วยประคับประคองและลดทอนผลกระทบจากการปรับลดมาตราการ QE ของ FED ที่จะมีต่อภาพรวมการลงทุนได้ โดยคาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่สาม ทั้งนี้ในส่วนของการลงทุนในไทยเราประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ก็จะขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีนว่าจะสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีหรือไม่ รวมถึงความสำเร็จของแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย เช่น Phuket Sandbox ว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้สำเร็จหรือไม่ในภาวะของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดูจะนำหน้าไทยเราไปก่อน

ดังนั้นในภาพรวมแล้วในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เราจึงมีมุมมองบวกต่อตลาดหุ้นในเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Developed Market Equities) เช่น ตลาดหุ้นของประเทศสหรัฐอเมริกา และตลาดหุ้นภูมิภาคยุโรป โดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของผลประกอบการบริษัทในตลาด และเรายังมีการปรับมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นในส่วนของหุ้นไทย และ REITs ไทย จากมุมมองของแนวโน้มผลประกอบการที่จะปรับตัวดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า เมื่อจำนวนประชากรได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสินทรัพย์ทั้งสองนี้ก็ยังถือว่าเป็น Laggard play ที่ยังปรับตัวขึ้นไม่เท่ากับตลาดอื่นๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติได้มีการปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาตั้งแต่ต้นปีถึง 7 หมื่นล้านบาท โดยเราประเมินว่ากองทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ปัจจุบันดำรงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยในระดับต่ำ และหากเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นจึงจะสามารถเรียกความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

ที่มา:

อ่าน Principal Update: CIO's View July 2021 ที่นี่