Principal Monthly Report ประจำเดือน กันยายน 2567
ตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลกยกเว้นประเทศญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะเกิด Black Monday กับตลาดหุ้นทั่วโลกในวันที่ 5 ส.ค. หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5% ในขณะที่สหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC เดือน ก.ย. ทำให้นักลงทุนที่หาผลตอบแทนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย Unwind Yen Carry Trade ผ่านการขายสินทรัพย์ลงทุนต่าง ๆ ทั้งในตลาดเงิน และตลาดหุ้นออกมาจำนวนมาก ทั้งนี้ ตลาดหุ้นหลายแห่งสามารถปรับตัวขึ้นมาใกล้เคียงจุดเดิมได้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยปรับตัวขึ้นแรงจากการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดที่พึ่งพาการส่งออกปรับลดลงจากเงินเยนที่แข็งขึ้น ตลาดหุ้นจีน A-Shares ยังคงติดลบต่อเนื่องรัฐบาลไม่ออกนโยบายที่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์และREITs ทั้งทั่วโลกและไทยปรับตัวขึ้นแรงจากความหวังที่ตลาดขนาดใหญ่จะเข้าสู่วัฏจักรการลดดอกเบี้ย กองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกทั้ง Investment Grade และ High Yield มีความน่าสนใจมากขึ้นหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐฯ ปรับลงแรงทุกช่วงอายุ
ตราสารหนี้:อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) ปรับลดลงแรง สอดรับความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุม FOMC เดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ หลังดัชนีราคาผู้ผลิตไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร (Core Producer Price Index: Core PPI) เดือน ก.ค. ต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ 2.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (YoY) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับลงต่ำกว่าที่ตลาดคาดต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ (CPI) เดือน ก.ค. อยู่ที่ 2.9% (YoY) เข้าสู่ระดับ 2% ที่ Fed ตั้งเป้าหมายไว้ ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณ เช่น ตัวเลขการว่างงานเดือน ก.ค.สูงถึง 4.3% YoY สูงสุดในรอบ 22 เดือน และทำให้ดัชนีวัดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ (Sahm Rules Recession Indicator ) ในเดือน ก.ค. สูงกว่า 0.5% บ่งบอกถึงโอกาสที่เกิดเศรษฐกิจชะลอตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้ ทั้งนี้ Bond Yield อายุ 2 ปีปรับแรงกว่าอายุ 10 ปี ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีลักษณะผกผัน (Inverted) น้อยลง ทำให้เห็นว่านักลงทุนยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาวมีความแข็งแกร่ง ทั้งนี้การปรับลงแรงของ Bond Yield ทำให้กองทุนตราสารหนี้มีความน่าสนใจลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะตราสารหนี้ทั่วโลกทั้งกลุ่ม Investment Grade และ High Yield
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ:ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 2.28% ในเดือน ส.ค. อย่างไรก็ตามดัชนีมีความผันผวนที่สูงมากในช่วงต้นเดือน เนื่องจากตลาดกลับมากังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ หลังจากตัวเลขภาคตลาดแรงงานแย่ลง ส่งผลให้ Sahm Rules Recession Indicator (คำนวณมาจากอัตราการว่างที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย) ปรับตัวขึ้นที่ 0.53% เหนือ 0.50% ส่งสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตามตลาดใช้เวลาไม่นานสำหรับการฟื้นตัว เนื่องจากการส่งสัญญาณของการลดดอกเบี้ยอย่างชัดเจนของ Fed โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุม Jackson Hole ในช่วงวันที่ 22 – 24 ส.ค. ที่ผ่านมาที่เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ได้แสดงความเห็นว่าถึงเวลาแล้วสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
ตลาดหุ้นยุโรป: ดัชนี STOXX Europe 600 เคลื่อนไหวและปรับเพิ่มขึ้นในทำนองเดียวกับหุ้นสหรัฐฯ ที่ 1.33% คือปรับลดลงแรงตั้งแต่ต้นเดือน และค่อย ๆ ฟื้นตัวได้ตั้งแต่ในช่วงกลางเดือนเป็นต้นมา จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย และท่าทีที่ชัดเจนต่อการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ก.ย. ของ Fed ในส่วนด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของยุโรป ปรับขึ้นเหนือระดับ 50 ที่ 53.3 ได้รับประโยชน์จากการจัดการโอลิมปิกที่ฝรั่งเศสเป็นหลัก ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตยังอยู่ในโซนหดตัวที่ 45 .6 ในเดือน ส.ค. นอกจากนี้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมล่าสุดของเดือน มิ.ย. ยังติดลบที่ -3.9% บ่งบอกถึงเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว
ตลาดหุ้นเกาหลีใต้:ในเดือน ส.ค. ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดติดลบที่ -3.48% และผันผวนทั้งเดือนตามตลาดหุ้นโลก อย่างไรก็ตามวัฏจักรขาขึ้นของชิปเซมิคอนดักเตอร์ และความก้าวหน้าของ AI ยังคงเป็นแรงหนุนสำคัญต่อตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยล่าสุดยอดส่งออกของเกาหลีในช่วงวันที่1 – 20 ของเดือน ส.ค. เติบโตอย่างก้าวกระโดดที่ 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการเติบโตของมูลค่าการส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่เติบโต 42.5% เป็นตัวแปรสำคัญ นอกจากนี้การพัฒนาของการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ในเกาหลีใต้ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ชิป HBM3E ของบริษัท Samsung Electronics ได้ผ่านการทดสอบของ Nvidia สำหรับการใช้งานด้าน AI แล้ว ซึ่งมีโอกาสจะช่วยผลักดันยอดขายของบริษัทในอนาคต
ตลาดหุ้นจีน:ตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ A-Shares ยังปรับลดลงต่อเนื่อง โดยปรับลง 3.51% จากเดือน ก.ค. สวนทางกับตลาดกำลังพัฒนาหลักอื่น เช่น อินเดีย บราซิล และไทย ในขณะที่ตลาดหุ้นฮ่องกงสามารถปรับขึ้นได้เล็กน้อยจากปรับขึ้นของสองอุตสาหกรรมใหญ่อย่างการเงินและเทคโนโลยีที่มีสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของตลาดฮ่องกง สาเหตุหลักที่ตลาดหุ้นจีนยังมีความเสี่ยงถึงแม้ว่าราคาจะปรับลงมาอย่างมากสืบเนื่องมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายในคือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ได้เพราะขาดมาตรการกระตุ้นที่มากพอเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิต (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (Purchasing Manager Index: PMI) ภาคการผลิตยังหดตัว โดยเดือน ก.ค. อยู่ที่ 49.8 ความมั่นใจของธุรกิจปรับลดจาก 51.8 ในเดือน มิ.ย. เหลือ 49.8 ในเดือน ก.ค. สำหรับอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นเพียง 0.5% จากเดือนที่แล้วเนื่องจากประชาชนจีนยังบริโภคต่ำ ในส่วนของปัจจัยภายนอกนั้นเกิดจากการที่หลายประเทศเพิ่มภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่มาจากประเทศจีนที่เริ่มจากสหรัฐฯ และยุโรป ล่าสุดแคนาดาประกาษขึ้นภาษีนี้ถึง 100% หลังรถยนต์ไฟฟ้าจีนเข้าไปจำนวนมหาศาลทำให้ราคากลางของตลาดยานยนต์ในประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ
ตลาดหุ้นอินเดีย: ตลาดหุ้นอินเดีย NIFTY เดือน ส.ค. ปรับขึ้นได้เล็กน้อย 1.14% จากเดือน ก.ค. หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวปรับลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในช่วงการขยายตัวและยังอยู่เหนือค่าเฉลี่ยระยะยาว เช่น PMI ภาคการผลิตและบริการเดือน ส.ค. อยู่ที่ 57.9 และ 60.4 ตามลำดับ ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. โต 4.2% โดยภาคการผลิตที่มีน้ำหนักประมาณ 80% ของผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 2.6% จากการผลิตคอมพิวเตอร์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่โต 10.7% และ 28.4% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านยาสูบหดตัวลงแรง 10.9% อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. ปรับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 2562 อยู่ที่ 3.54% YoY จากการปรับลงของราคาอาหาร สินเชื่อเดือน ส.ค.ยังเติบโตได้เหนือค่าเฉลี่ย 12 ปีที่ 13.6% โดยมีแนวโน้มปรับขึ้นหากธนาคารกลางอินเดียปรับอัตราดอกเบี้ยลงตามธนาคารโลก
ตลาดหุ้นไทย: SET Index ปรับขึ้น 2.89% จากปัจจัยสนับสนุนระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไหลของเงินทุนมาที่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วใน 1 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดหุ้นไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ประกอบกับราคาตลาดหุ้นไทยค่อนข้างถูกมากเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยในอดีต ถึงแม้ในเดือนส.ค. ที่ผ่านมาปัจจัยด้านการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น โดยคุณแพทองธาร ชินวัตร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยนักลงทุนคาดการณ์แผนการและโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สร้างความมั่นใจกับนักลงทุนมากขึ้น รวมถึงการยืนยันการไม่ยกเลิกโครงการ Digital Wallet แต่จะมีการปรับวิธีการแจกจ่ายเพื่อลดความกังวลของนักลงทุนในเรื่องของการจัดหาเงินทุน อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดสำหรับการลงทุนในระยะยาว นักลงทุนจึงควรติดตามนโยบายต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด
ตลาดหุ้นเวียดนาม: ตลาดหุ้นเวียดนามปรับขึ้นเล็กน้อย 2.59% ในช่วงเดือน ส.ค. โดยตลาดหุ้นเวียดนามปรับลงแรงประมาณ 4% ภายใน 1 วันทำการในวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,188 จุด ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลก แต่สามารถปรับขึ้นกลับมาเหนือ 1,280 จุดได้ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา หลังค่าเงินดองแข็งค่าขึ้นและทำให้เงินทุนจากต่างประเทศเริ่มกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ตัวเลขเศรษฐกิจเวียดนามเดือน ก.ค.ยังเติบโตได้แข็งแกร่ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตยังบ่งบอกถึงการเติบโตอยู่ที่ 54.7 จุดการผลิตภาคอุตสาหกรรมโตถึง 11.2% YoY (สูงกว่าคาดการณ์ที่ 10%) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เดือน ก.ค. โตถึง 12.6% จากเดือน ส.ค. อีกทั้งการบริโภคในประเทศปรับขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตของภาคการผลิตและส่งออก เดือน ก.ค. ตัวเลขค้าปลีกโต 9.4% YoY ทั้งจากสินค้าและบริการ เศรษฐกิจที่เติบโตได้แข็งแกร่งช่วงที่ผ่านมาทำให้ธนาคารโลก หรือ World Bank ปรับเพิ่มประมาณการณ์ GDP ของเวียดนามสูงขึ้นจากครั้งก่อน โดยคาดว่า GDP เวียดนามปี 2024 จะโต 6.1% และปี 2025-2026 จะโตได้ 6.5%/ปี
สินทรัพย์ทางเลือก: ราคาทองคำปรับขึ้นได้ต่อเนื่องจากการอ่อนค่าลงสกุลเงินดอลลาร์โดย Dollar Index อ่อนค่าลงประมาณ 3.25% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา กองทุนอสังหาริมทรัพย์/REITs ไทยและทั่วโลกปรับขึ้น 5.24% และ 6.16% ตามลำดับ หลัง Fed มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. และเป็นผลดีกับสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์ในทิศตรงกันข้ามอย่างอสังหาริมทรัพย์และREITsปรับขึ้นได้แรง โดยจะเห็นว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์/REITs ทั่วโลกปรับขึ้นแรงกว่าไทยเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีท่าทีที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม อีกทั้งคุณภาพสินทรัพย์และการกระจายของอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์/REITs ในสหรัฐฯ และยุโรปดีกว่าประเทศไทย
เราคงมุมมอง Slightly OW ในกลุ่ม ตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ทั่วโลกประเภทInvestment grade ที่มีคุณภาพดี โดยการประชุม Jackson Hole เจอโรม พาวเวลล์ประธาน Fed ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเวลาที่จะลดอัตราดอกเบี้ยได้มาถึงแล้ว อีกทั้งตลาดยังมีมุมมองว่า Fed สามารถลดดอกเบี้ยได้ถึง 1% ภายในสิ้นปีนี้ ตราสารทุน เรายังมีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้น แม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวได้แข็งแกร่งในช่วงประมาณกลางเดือน อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ และความกังวลเศรษฐกิจถดถอยยังมีอยู่ เรามีมุมมอง Slightly OW ต่อตลาดหุ้นอินเดีย จากเศรษฐกิจอินเดียที่สามารถเติบโตได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลก (60% ของ GDP มาจากการบริโภคภายในประเทศ) และตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และสุดท้ายเรามีมุมมอง Slightly Overweight ต่อ กองทุนอสังหาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ Fed มีความมั่นใจมากขึ้นต่อการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรก โดยเราชอบกองทุนอสังหาฯ โลกมากกว่าในประเทศ เนื่องจากโดยอดีตกองทุนอสังหาฯโลก จะปรับขึ้นได้ดีกว่าจากผลประโยชน์ของดอกเบี้ยขาลง
คำเตือน
PRINCIPAL GREITs กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ (Property Sector Fund) ดังนั้นหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจํานวนมาก
PRINCIPAL GREITs, PRINCIPAL GQE, PRINCIPAL GESG และ PRINCIPAL GCREDIT กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย
PRINCIPAL GIF กองทุนหลักลงทุนกระจุกตัวในยุโรป อังกฤษ และอเมริกาเหนือ ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย
PRINCIPAL GESG มิได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน การบริหารจัดการและการจัดทำรายงานของกองทุนรวมเช่นเดียวกับ SRI Fund
PRINCIPAL INDIAEQ กองทุนหลักลงทุนกระจุกตัวในประเทศอินเดีย ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย
PRINCIPAL VNEQ ลงทุนกระจุกตัวในประเทศเวียดนาม ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย
PRINCIPAL KEQ ลงทุนกระจุกตัวในประเทศเกาหลี ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย
PRINCIPAL DPLUS มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วนซึ่งจะไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ จึงอาจทำให้กองทุนมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศอื่น ๆ ดังนั้น บริษัทจัดการจะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุน ณ ต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว
บริษัทจัดการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุน (Hedging) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
กองทุนมีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ กองทุนอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไร จากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าทุนเริ่มแรกได้
ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
คำเตือน : Principal Asset Allocation Plan เป็นบริการการแนะนำการจัดพอร์ตการลงทุนแบบการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ (Asset Allocation) ตามระดับความเสี่ยงในการลงทุนของผู้ลงทุน โดยเป็นการพิจารณาและประเมินภาวะการลงทุน เพื่อการสร้างและปรับพอร์ตอย่างสมดุล และอาจจะพิจารณาและนำเสนอการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนหรือปรับพอร์ตลงทุนเป็นรายเดือน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพอร์ตการลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและสอดรับกับภาวะการลงทุน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เปลี่ยนไปตามภาวะตลาดส่งผลให้สัดส่วนของแต่ละสินทรัพย์ที่ลงทุนมีการปรับเปลี่ยนไปจากสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม อาจทำให้พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงสูงหรือต่ำไปกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนเข้าสู่สัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม Principal Asset Allocation Plan เป็นเพียงคำแนะนำของ บริษัทจัดการ ผู้ลงทุนอาจ ไม่ได้รับผลตอบแทนตามคาดหวัง ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรทำความ เข้าใจการจัดสรรการลงทุน (Basic Asset Allocation) ตามคำแนะนำของสำนักงาน ก.ล.ต.
พอร์ตการลงทุนดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณการสัดส่วนการลงทุนซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อลงทุนจริง ขึ้นอยู่กับสภาพตลาด การลงทุนและโอกาสการลงทุนในแต่ละขณะ ทั้งนี้ ประมาณการสัดส่วนการลงทุน ไม่ใช่การรับประกันหรือยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต/ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
คำอธิบายประกอบตารางมุมมองการลงทุนรายสินทรัพย์
OW ย่อมาจาก Overweight หมายถึง ให้น้ำหนักมากกว่าตัวเปรียบเทียบ (Benchmark)
UW ย่อมาจาก Underweight หมายถึง ให้น้ำหนักน้อยกว่าตัวเปรียบเทียบ (Benchmark)
คำอธิบายประกอบ Clients’ Portfolio Model 5 พอร์ตลงทุนแนะนำ
สำหรับผู้ลงทุนที่มีระดับความเสี่ยง “ปานกลางค่อนข้างสูง” แนะนำพอร์ตการลงทุน “Income”
สำหรับผู้ลงทุนที่มีระดับความเสี่ยง “สูง” ท่านสามารถลงทุนในพอร์ตการลงทุน “Income” และ “Balance”
สำหรับผู้ลงทุนที่มีระดับความเสี่ยง “สูงมาก” ท่านสามารถลงทุนในพอร์ตการลงทุน “Income”, “Balance”, “Growth”, “Active Growth” และ “Global Growth”
ทั้งนี้หากท่านผู้ลงทุนมีความประสงค์จะลงทุนในพอร์ตลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่าระดับความเสี่ยงการลงทุนของท่าน ท่านจะต้อง “ยืนยัน” รับทราบความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนที่ท่านได้เลือกลงทุน
คำอธิบายประกอบ Expected Return และ Return Volatility (ความผันผวนของอัตราผลตอบแทนคาดการณ์ในระยะเวลา 3 ปี ข้างหน้า)
Expected Return และ Return Volatility หมายถึง อัตราผลตอบแทนและค่าความเสี่ยงคาดการณ์เฉลี่ยต่อปี สำหรับการลงทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งมาจากการศึกษาข้อมูล ในอดีตย้อนหลังเป็นฐานในการคำนวณ ดังนั้น ชุดข้อมูลดังกล่าว จึงมิได้ยืนยันถึงอัตราผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต Expected Return และ Return Volatility คำนวณมาจาก อัตราผลตอบแทนและค่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริงในอดีตของตราสารทุนไทย ตราสารทุนต่างประเทศ และการลงทุนทางเลือกในกองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs ผ่านดัชนีที่ใช้เป็นตัวแทนแต่ละสินทรัพย์ ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี (ตั้งแต่ มกราคม 2557 ถึง สิงหาคม 2567) ขณะที่ตราสารหนี้ไทย คำนวณมาจาก แนวโน้มอัตราผลตอบแทนจากเส้นอัตราผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ หรือ Bond Yield Curve
ดัชนีที่ใช้ในการคำนวณอัตราผลตอบแทนในอดีตของแต่ละ สินทรัพย์ ได้แก่
ตราสารหนี้ : ดัชนี GovBond 1-3Yrs NTR Index (50%) + MTMCorpA-up 1-3Yrs NTR Index (25%) + Avg12MFixed(BBL,KBANK,SCB) (25%)
ตราสารทุนต่างประเทศ : ดัชนี MSCI ACWI Total Return Index
ตราสารทุนไทย : ดัชนี SET Total Return Index
กองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs : ดัชนี SET PF&REIT Total Return Index (50%) + ดัชนี FTSE ST Real Estate Investment Trusts Total Return Index (50%)
ผู้จัดทำ
ศุภจักร เอิบประสาทสุข – Head of Investment Strategy
ธเนศ เลิศเพชรพันธ์ – Investment Strategist
มินตรา จันทวิชชประภา – Investment Strategist
มนสิชา อุทิศชลานนท์ – Investment Strategist